ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 116 : แผนกทรัพยากรบุคคล

แผนกทรัพยากรบุคคล (Human resources) มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแรงงานเป็นต้นทุนกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโรงพยาบาล แผนกนี้รับผิดชอบต่อการดูแลประวัติบุคลากร (Personnel record) และผลประโยชน์ (Benefits) ของบุคลากร โดยที่หัวหน้าแผนกทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะในเรื่องนานากฎหมาย รวมทั้งกฎหมายแรงงาน

นับวันแผนกนี้จะทวีบทบาทสำคัญในการประสานงานกระบวนการต่างๆ ในการว่าจ้างบุคลากรและช่วยเหลือแผนกอื่นๆ ในการสรรหา (Recruit) บุคลากร กิจกรรมของแผนกนี้สามารถแบ่งแยกตามหน้าที่ได้ 3 หน่วยงาน กล่าวคือ (1) ดึงดูด (Attract) สัมภาษณ์ และว่าจ้างบุคลากร (2) รักษาประวัติบุคลากรและดูแลโปรแกรมต่างๆ หลังการว่าจ้าง และ (3) คอยสอดส่องให้โรงพยาบาลปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับต่างๆ

การปฏิบัติตามแผนงานควบคุมตำแหน่งงาน (Position control) เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการควบคุมอัตรากำลังคน เทียบเท่าจำนวนคนทำงานเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) ในการจ่ายค่าจ้าง (Payroll) ตามที่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ นิยามของ FTE คือจำนวนชั่วโมงที่คนทำงานเต็มเวลา ใน 1 ปี หรือ 2,080 ชั่วโมง ซึ่งหักจำนวนชั่วโมงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แล้วแต่ยังมิได้นับวันลาพักร้อน ลากิจ และวันนักขัตฤกษ์

ก่อนที่จะมีการสรรหา สัมภาษณ์ และว่าจ้างบุคลากร แผนกทรัพยากรบุคคล ต้องวิเคราะห์งาน (Job analysis) โดยการพิจารณาหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ สภาพการทำงาน และการฝึกอบรมให้ได้ทักษะที่ต้องการ หลังจากนั้นก็จะกำหนดลักษณะงาน (Job description) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง แผนกที่จะมอบหมายงาน รายละเอียดหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ประกอบการทำงาน ตลอดจนชื่อและตำแหน่งผู้บังคับบัญชา

ในการสรรหาบุคลากร แผนกนี้จะทำหน้าที่ในการป่าวประกาศ หรือลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือออนไลน์ รวมทั้งเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง เพื่อดึงดูดผู้สมัครงาน รวมทั้งพิจารณาใบสมัครเก่า ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับเชิญให้มาสัมภาษณ์ เพื่อคัดกรอง (Screen) ให้หัวหน้าแผนกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้สัมภาษณ์ และตัดสินใจคัดเลือกในที่สุด

หลังการตัดสินใจของหัวหน้าแผนกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว แผนกทรัพยากรบุคคล ทำหน้าที่รับผู้สมัครเข้างานอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย เริ่มเปิดแฟ้มประวัติของบุคลากร แล้วกำหนดการปฐมนิทัศน์ (Orientation) เพื่อให้บุคลากรใหม่ ได้รับข้อมูลภูมิหลัง (Background information) ของโรงพยาบาลในเรื่องพันธกิจ วิสัยทัศน์ ปรัชญา ค่านิยม ฯลฯ และเพื่อให้ทราบถึงนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติในคู่มือ รวมทั้งผลประโยชน์ อันได้แก่ สวัสดิการต่างๆ อาทิ การประกันชีวิตและการประกันสุขภาพ รูปแบบการปฐมนิเทศน์มักเป็นการบรรยาย ตอบข้อซักถาม และนำชมทั่วทั้งโรงพยาบาล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)