ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 115 : การส่งเสริมความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

ในวงการดูแลสุขภาพ ความพยายามในการลดหรือขจัดความผิดพลาด ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ผลิตเวชภัณฑ์สายท่อต่างๆ (Medical tubing) สามารถป้องกันความผิดพลาดได้ โดยการผลิตสายท่อที่ออกแบบสำหรับงานเฉพาะซึ่งไม่อาจเชื่อมโยงกับชุดสายท่อเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous set) เป็นต้น

เป็นที่คาดหมายกันว่า ในอนาคตอันใกล้ ห้องผ่าตัดทุกแห่งจะติดตั้งกล้องถ่ายภาพ (Camera) และเครื่องเฝ้าติดตาม (Monitor) ซึ่งสามารถมองเห็นได้โดยสมาชิกทีมงานผ่าตัด ที่ควบคุมระบบจากทางไกล (Remote control) และสายไฟฟ้าห้อยระโยงระยาง (Clutter) จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (Wireless technology)

ความจำเป็นในการย้ายผู้ป่วยด้วยแรงงานคน ก็จะถูกทดแทนด้วยโต๊ะผ่าตัดที่ใช้เป็นพาหนะขนส่ง (Transporter) ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้ด้วย แล้วยังมีการใช้รหัสแท่ง (Bar code) หรือการแสดงตัวตนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Identification : RFID) ซึ่งสอดไว้ที่แขน (Armband) ผู้ป่วย แล้วมีเสียงเตือนเมื่อมีการนำผู้ป่วยผิดคนเข้ามาในห้องผ่าตัด

เพื่อป้องกันปัญหาที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดผิดอวัยวะของผู้ป่วย โรงพยาบาลหลายแห่งจึงเริ่มบังคับให้ศัลยแพทย์ลงนามด้วยปากกาติดปลายที่สามารถจับความเคลื่อนไหว (Felt-tip pen) ในบริเวณที่จะลงมีดผ่าตัด ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ของแพทย์ และทีมงานผ่าตัดด้วย เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วย

การใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic medical records : EMR) และธงเตือนสีแดง (Red flag) จะทำหน้าที่ป้องกันความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิผลในการสื่อสารและประสานงาน รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพในการติดตามผลการดูแลผู้ป่วย การใช้รหัสแท่ง จะช่วยยืนยันการจ่ายยาที่ถูกต้องให้ผู้ป่วยที่ถูกคน แต่พยาบาลต้องทำงานตามระบบ ไม่ลัดขั้นตอน

ข้อผิดพลาดหลายอย่างเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร หรือขาดการสื่อสารในระหว่างบุคลากรผู้ให้การดูแลผู้ป่วย ดังนั้น บุคลากรดังกล่าวจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะการใช้การคิดเชิงวิจารณ์ (Critical thinking) และการสื่อสารประเด็นความปลอดภัยของผู้ป่วย ข้อความที่สื่อสารจะต้องชัดเจน เพื่อลงมือปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ส่วนการสื่อสารที่ผิดพลาดจะต้องได้รับการสอบสวน (Investigation) และระบบที่ผิดพลาดจะต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุง เพื่อส่งเสริมการสื่อสารที่ได้ประสิทธิผล

ควาปลอดภัยของผู้ป่วย จะสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยอาศัยการดูแลตนเองของผู้ป่วย และจูงใจให้ผู้ป่วย รับผิดชอบต่อการรักษาสุขภาพ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิต (Life style) และปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม (Cultural change) ในโรงพยาบาลที่ยอมรับรายงานความผิดพลาด หรือเกือบผิดพลาด (Near miss) อย่างเปิดเผย นอกจากนี้ องค์กรแพทย์ (Medical staff organization : MSO) ในโรงพยาบาล จะต้องให้ความสำคัญต่อมาตรฐานของวิชาชีพที่มีการตรวจสอบกันเอง (Peer review) อย่างสม่ำเสมอ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)