ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 114 : การขจัดข้อผิดพลาดในโรงพยาบาล

ข้อผิดพลาดในโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น หากมีมาตรการความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น พยาบาลคนหนึ่งเตรียมยาให้ผู้ป่วย แล้วพยาบาลอีกคนหนึ่งตรวจสอบก่อนให้ผู้ป่วยกินยา ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาจำนวนมากได้ หรือในกรณีที่เก็บรักษายา Heparin (ยาฉีดต้านลิ่มเลือด) และ Insulin (ยารักษาโรคเบาหวาน) (ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน) ไว้คนละพื้นที่ ก็จะสามารถป้องกันข้อผิดพลาดในการให้ยาเหล่านี้ได้

เป็นที่เชื่อกันว่า การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการดูแลสุขภาพ จะสามารถขจัดยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน (Drug interactions) จำนวน 2 ล้านรายการต่อปี และลดการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 190,000 ครั้งต่อปี การจ่ายยาที่ผิดพลาด (Medication errors) จำนวนมาก สามารถขจัดได้ โดยเพียงใช้คอมพิวเตอร์

ปัญหาที่ขจัดได้ ส่วนใหญ่จะเป็นลายมือที่อ่านยาก การอ่านที่ผิดพลาด และยาที่ชื่อคล้ายกัน ตลอดจนปัญหาของความเข้าใจผิดเรื่องการออกเสียง (Pronunciation) ของยาบางชนิด แม้จะไม่มีคอมพิวเตอร์ การจ่ายยาที่ผิดพลาด สามารถขจัดได้หรือลดลง โดยการฝึกอบรมให้ผู้ให้บริการ (Care-givers) เข้าใจทั้งระบบหรือกระบวนการ

หากผู้ให้บริการได้รับการฝึกอบรมให้เติมศูนย์ (0) ก่อนตัวเลขที่ต่ำกว่า 1 (อาทิ 0.5 แทน .5) โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยลง ในทางกลับกัน ไม่ควรเติมศูนย์ (0) หลังตัวเลขที่มีค่าสูงกว่า 1 (อาทิ 2 แทน 2.0) และในคำสั่ง (Order) ก็เช่นกัน ควรพิมพ์แทนเขียนด้วยลายมือ โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยลง

ปัญหาในการออกคำสั่ง หรือจ่ายยา อาจเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ให้บริการหลายคน และจำนวนขั้นตอนมากในการสั่งจ่าย (Prescribing) ยา แพทย์เป็นผู้เขียนใบสั่ง เภสัชกรเป็นผู้จัดยาตามใบสั่ง และพยาบาลเป็นผู้ให้ยาผู้ป่วย กระบวนการนี้ในโรงพยาบาลบางแห่งมีถึง 20 ขั้นตอน ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดข้อผิดพลาด แต่ความเสี่ยงดังกล่าว สามารถขจัดได้หากแพทย์พิมพ์ใบสั่งยาเอง ระบุชื่อยา ปริมาณ (Dose) ความถี่ (Frequency) และระยะเวลา (Duration) ในการให้ยา

ปฏิกิริยาจากผลไม่พึงประสงค์ของยา (Adverse drug reaction : ADR) (ซึ่งแตกต่างจากการจ่ายยาที่ผิดพลาด) อาจเกิดจากความผิดพลาดในการให้ยาผู้ป่วยมากเกินปริมาณ (Overdose) หรือปฏิกิริยาที่ขัดแย้งกันระหว่างการให้ยาหลากชนิด และยังรวมถึงผลข้างเคียง (Side effect) การใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในห้องยา (Pharmacy) อาจขจัดปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะเราสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เตือนเภสัชกร และแพทย์ เกี่ยวกับปฏิกิริยาของยาได้ล่วงหน้า

ยาใหม่ๆ ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ หรือการใช้ยาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมของผู้ผลิต อาจก่อให้เกิดปัญหา ยาจำนวนมากถูกเรียกคืนจากท้องตลาด แต่ข้อมูลไม่ได้รับการปรับให้ทันกาล (Update) ในระบบที่แพทย์คุ้นเคย ซึ่งตามปรกติ แพทย์ต้องรายงานผลข้างเคียงที่มิได้ระบุโดยบริษัทผู้ผลิตยา ให้คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) รับทราบทันที

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)