ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร ตอนที่ 112: ความผิดพลาดในการบำบัดรักษา

การบริหารความเสี่ยง (Risk management) ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นเครื่องมือที่ได้ประสิทธิผลในการป้องกันโรงพยาบาล จากการฟ้องร้องคดีในศาล โดยการค้นหาปฏิบัติการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Substandard practices) แล้วแก้ไข ก่อนที่สถานการณ์ จะนำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดในการบำบัดรักษา (Malpractice claims)

การสื่อสารอุบัติการณ์ (Incident) กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ตามด้วยมาตรการการบริหารความเสี่ยง สามารถหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องคดีได้ในบางกรณี นอกจากนี้ การบริหารความเสี่ยงยังช่วยให้เกิดความมั่นใจว่า แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลสุขภาพอื่นๆ ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพที่ยอมรับกันทั่วไป

นิยามของความผิดพลาดในการบำบัดรักษา คือ “การบาดเจ็บ (Injury) ของผู้ป่วยทั้งทางกาย (Physical) หรือทางใจ (Mental) ที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ให้บริการระหว่างการบำบัดรักษา” การเรียกร้องความเสียหายจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ทั้งการบาดเจ็บและความประมาทเลินเล่อทางวิชาชีพ

ในสหรัฐอเมริกา การชนะคดีดังกล่าวได้ โจทย์ (ผู้ป่วย) ต้องพิสูจน์ได้ว่า (1) ผู้ให้บริการบำบัดรักษา (แพทย์หรือโรงพยาบาล) มีหน้าที่บำบัดรักษาผู้ป่วย (2) ผู้ให้บริการมิได้บำบัดรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้อง (3) ผู้ป่วยเกิดความเสียหาย และ (4) ความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ป่วยมิได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง

แม้ว่า มีเพียงปีละ 3 ถึง 8% ของจำนวนแพทย์ ในสหรัฐอเมริกาที่ถูกฟ้องร้อง อันเป็นผลโดยตรงของความผิดพลาดในการบำบัดรักษา แต่ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จนแพทย์จำนวนมากเริ่มให้การบำบัดรักษาในเชิงป้องกันจนเกินเหตุ (Defensive medicine) โดยการสั่งให้มีการตรวจวิเคราะห์ (Test) หรือหัตถการที่ไม่จำเป็น จนค่าใช้จ่ายของการบำบัดรักษาสูงขึ้นอย่างมากมาย

โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอเมริกัน ต่อความประมาทเลินเล่อของแพทย์ในโรงพยาบาล เพราะถือว่าแพทย์เป็นบุคลากรของโรงพยาบาล โดยหลักการ respondeat superior (ผู้เป็นนายต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้เป็นบ่าว) ความรับผิดชอบนี้รวมถึงบุคลากรอื่นๆ ของโรงพยาบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และผู้เสียหายรวมถึงญาติผู้ป่วยที่มาเยื่ยมไข้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาล ก็ถือว่าโรงพยาบาลยอมให้แพทย์ที่ไม่มีความสามารถ หรือไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ เข้ามาบำบัดรักษาผู้ป่วย ดังนั้นถือเป็นความประมาทเลินเล่อของโรงพยาบาลเอง ที่ขาดการการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ (Credentialing) ของภูมิหลังแพทย์ดังกล่าว และบุคลากรอื่นๆ ด้วย

การป้องกันวิธีหนึ่ง คือการสร้างการรับรู้ในหมู่แพทย์ พยาบาล และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพต่างๆ ถึงความเป็นเลิศในการบำบัดรักษา (Best practices) และการทบทวนรายงานอุบัติการณ์ (Incident report) อย่างสม่ำเสมอ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)