ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 110 : กระบวนการการรับรองมาตรฐาน

โรงพยาบาลที่ปรารถนาจะได้รับการรับรองมาตรฐาน ต้องกรอกใบสมัคร เพื่อขอให้องค์กรรับรองมาตรฐาน (JCAHO ในสหรัฐอเมริกา หรือ JCI ในประเทศไทย) เข้ามาสำรวจโรงพยาบาล องค์กรดังกล่าวจะส่งแบบสอบถามที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (Comprehensive Questionnaire) เกี่ยวกับปฏิบัติการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แบบสอบถามดังกล่าวจะประเมินมาตรฐานใน 3 ประการ เริ่มต้นด้วยคุณภาพของการให้บริการผู้ป่วย ตั้งแต่การจัดองค์กรบุคลากรทางการแพทย์ กระบวนการฝ่ายการพยาบาล โภชนาการ การจ่ายยา การตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) การดูแลการหายใจ (Respiratory care) การตรวจรักษาทางด้านรังสีวิทยา กายภาพบำบัด และการบริการฉุกเฉิน

ประการที่ 2 เป็นเรื่องการบริหารจัดการ (Organization and administration) โดยคำนึงถึงโครงสร้างตามกฎหมายที่ได้ประสิทธิผล นโยบายและขั้นตอนปฏิบัติที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การรายงานผลปฏิบัติการของแผนกและหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล ตลอดจนการกำกับดูแล (Oversight) โดยคณะการบริหารโรงพยาบาล

ประการที่ 3 เป็นเรื่องของอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาล อันได้แก่ กฎเกณฑ์ความปลอดภัยต่อชีวิต (Life-safety code) อาทิ โรงพยาบาลมีระบบฉีดน้ำดับไฟอัตโนมัติ (Sprinkler) เวลาเกิดเพลิงไหม้หรือไม่? เฉลียงทางเดินกว้างขวางเพียงพอหรือไม่? และทางออกฉุกเฉินเหมาะสมหรือไม่?

โรงพยาบาลซึ่งมักประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และผู้บริหารโรงพยาบาล หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทีมงานอาจมีสมาชิกร่วมอีก 3 คน โดยใช้เวลาประมาณ 3 - 4 วันในการสำรวจ หากเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก อาจมีเพียงแพทย์และพยาบาล โดยใช้เวลาเพียง 2 - 3 วันในการสำรวจ

สมาชิกแต่ละคนในทีมงานสำรวจ จะได้รับมอบหมายให้สังเกตเนื้องานเฉพาะ ระหว่างเดินสำรวจทั่วทั้งโรงพยาบาล ผู้สำรวจจะอ่านขั้นตอนปฏิบัติงาน และรายงานการประชุมอย่างละเอียดลออ พิจารณาประเด็นกฎเกณฑ์ความปลอดภัยของชีวิต (Life-safety code) อาทิ ระบบกีดขวางควันไฟ (Smoke barrier) และฉีดน้ำดับไฟอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบการเปลี่ยนกะของพยาบาล สัมภาษณ์บุคลากร และสังเกตข้อบกพร่องในปฏิบัติการในโรงพยาบาล แล้วรวบรวมสิ่งที่ค้นพบ (Findings) และข้อเสนอ (Recommendations) ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ในการประชุมที่มีการอภิปรายอย่างเปิดเผย พร้อมส่งรายงานไปยังองค์กรรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะพิจารณารับรองมาตรฐานใน 3 ระดับ

ด้วยกัน อันได้แก่ ระดับที่รับรองมาตรฐานอย่างมีเงื่อนไข [ต้องปรับปรุงตามข้อเสนอภายในระยะเวลาที่กำหนด] ระดับรับรองมาตรฐานอย่างไม่มีเงื่อนไข และระดับรับรองมาตรฐานอย่างน่าชมเชย (Commendation) การรับรองมาตรฐานมีผลเพียง 3 ปี หลังจากนั้น ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานใหม่ (Re-accreditation) ซึ่งต้องผ่านกระบวนดังกล่าวข้างต้น [เป็นวัฏจักรไป]

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)