ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 109 : การรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล

ผู้ป่วยและชุมชน รู้ได้อย่างไรว่า โรงพยาบาลใดในชุมชนเป็นโรงพยาบาลที่ดี หากมีองค์กรภายนอกโรงพยาบาล เข้ามาตรวจสอบระบบ ขั้นตอนปฏิบัติ แพทย์ พยาบาล และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ทำให้โรงพยาบาลปฏิบัติงานตามความเหมาะสม ก็จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยและชุมชน ต่อโรงพยาบาลที่ได้รับการตรวจสอบ กระบวนการดังกล่าวคือการรับรองมาตรฐาน (Hospital accreditation : HA)

ในสหรัฐอเมริกา องค์กรดังกล่าวคือ คณะกรรมการร่วม (Joint Commission) ซึ่งมีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการร่วมรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล (Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO) [หน่วยงานหนึ่งขององค์กรดังกล่าวที่รับผิดชอบการรับรองมาตรฐานนานาชาติซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย คือ Joint Commission International : JCI ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542]

คณะกรรมการร่วมได้กำหนดจุดประสงค์หลักในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient safety goals) ในโรงพยาบาล ดังนั้นโรงพยาบาลใดที่ประสงค์จะได้รับการรับรองมาตรฐาน ต้องแสดงให้เห็นว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ อาทิ ประสิทธิผลของการสื่อสารในบรรดาผู้ให้บริการ (Caregivers) ระบบการเตือนทางการแพทย์ (Clinical alarm) ความแม่นยำในการแสดงตนผู้ป่วย (Patient identification) และการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Nosocomial infection) ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว

ยังมีปฏิบัติการความปลอดภัย (Safety) อีกจำนวนมากมายในโรงพยาบาล ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเป็นหมู่คณะและเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานทั่วทั้งโรงพยาบาล ซึ่งได้แก่ การรับรองคุณสมบัติ (Credentialing) ของบุคตลากร การตรวจสอบภูมิหลังของบุคลากร อาทิ ประวัติการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ให้บริการมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องมีมาตรการความมั่นคง (Security) ในการลดความเสี่ยงของการลักพาทารก การติดเชื้อในโรงพยาบาล และขั้นตอนปฏิบัติของศัลยกรรม อาทิ การลงนามในใบยินยอม (Informed-consent form) ของผู้ป่วย การยืนยันผู้ป่วยถูกคน ถูกข้าง (Side) และถูกที่ (Site) และถูกหัตถการ (Procedure)

การยอมให้เกิดข้อผิดพลาดต้องเป็นศูนย์ (Zero tolerance) และปฏิบัติการที่ไม่ปลอดภัยต้องไม่เกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของมาตรฐานในโรงพยาบาล (Hospital standardization) ที่กำหนดโดยวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Surgeons) ในปี พ.ศ. 2461

โครงการดังกล่าวกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยศัลยแพทย์ให้เข้าใจและยอมรับเวชระเบียน (Medical records) ที่มีรูปแบบเดียวกัน (Uniform form) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินสมาชิกภาพ (Fellowship) ของวิทยาลัย แล้ววิวัฒนามาเป็นมาตรฐาน JCAHO และ JCI ในปัจจุบัน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)