ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 108 : การบริหารกรณีฉุกเฉิน

แผ่นดินไหว น้ำท่วม และโรคระบาด เป็นเพียงตัวอย่างของสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วย และบริการอื่นๆ ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาล แม้จะเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ก็เป็นอุปสรรคชั่วคราวของการให้บริการ ในการเยียวยารักษาผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจเป็นระยะเวลายาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ก็ทำให้โรงพยาบาลต้องระดมทรัพยากรมาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์หายนะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย ได้แก่ การระบาดของไข้หวัดนก (H5N1) ในต้นปี พ.ศ. 2547 ภัยจากสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 การระบาดของไข้หวัดหมู/ไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) ในกลางปี พ.ศ. 2552 และ น้ำท่วมในปลายปี พ.ศ. 2554

มาตรการบริหารกรณีฉุกเฉิน (Emergency management) ได้แก่การเตรียมความพร้อม (Preparedness) ที่เอื้ออำนวยต่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลและยืดหยุ่นได้ ความหลากหลายและความรุนแรง ตลอดจนระยะเวลายาวนานของหายนะ ที่มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลโดยเฉพาะและชุมชนโดยภาพรวม

มาตรการดังกล่าวสำหรับโรงพยาบาลกำหนดเป็นกิจกรรมไว้ 4 ขั้นตอน อันได้แก่ การลดความรุนแรง (Mitigation) การเตรียมความพร้อม การสนองตอบ (Response) และการฟื้นฟู (Recovery) กลไกในทางปฏิบัติ มีการพัฒนาเป็นโครงการ การวางแผน การฝึกอบรม และการจัดสรรทรัพยากร เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (Hazard) ต่างๆ

ห้องฉุกเฉิน (Emergency room : ER) ในโรงพยาบาล เป็นแผนกที่รองรับภัยหายนะ โดยการบำบัดรักษาผู้บาดเจ็บ แต่ก็เป็นจุดอ่อนที่ล่อแหลมต่อความรุนแรงของผู้ป่วยเองในการข่มขู่ฆ่าตัวตายและของผู้ก่อการร้ายที่พรางตัวเข้ามา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในต่างประเทศ ดังนั้นการตรวจค้นผู้ป่วย ญาติและผู้เยี่ยมไข้ ด้วยเครื่องจับโลหะ (Metal detector) เพื่อค้นหาอาวุธที่อาจซ่อนแร้นอยู่ ก็เป็นมาตรการบังคับที่จำเป็น

ระบบสำคัญในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมได้แก่ ระบบสายโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมียา (อาทิ ยาต่อต้านไวรัส Tamiflu สำหรับกรณีไข้หวัดนก) เวชภัณฑ์ (อาทิ เข็มและไหมเย็บแผล) วัสดุอื่นๆ (อาทิ กระบอกฉีดยา ผ้าก๊อซและสำลี) และอุปกรณ์ต่างๆ (อาทิ เครื่องช่วยหายใจ) ไว้ในครอบครองอย่างเพียงพอ และเชื่อมโยงกับระบบสต๊อคของผู้ขาย (Vendor) ในยามจำเป็น ที่ต้องสั่งซื้อเพิ่มเติมอย่างกะทันหันและในปริมาณมาก

นอกจากการฝึกอบรม การซ้อมหนีภัย และการอพยพผู้ป่วยแล้ว หน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยคือการสื่อสารองค์กร ทั้งภายใน (ผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาล) และภายนอก (ประชาสัมพันธ์ และชุมชนสัมพันธ์) ตลอดจนหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ซึ่งรวมทั้งหน่วยงานรัฐ ข้อสำคัญต้องมีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อความคล่องตัวในปฏิบัติการยามฉุกเฉิน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)