ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 105 : แผนกความมั่นคงปลอดภัย

โรงพยาบาลมีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย (Security and Safety) ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ทำงานในการดูแลสุขภาพ ผู้เยี่ยมไข้ และผู้ป่วย การวางแผนและปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อค้นหาและลดความเสี่ยงลง มีบทบาทสำคัญต่อความสามารถของโรงพยาบาลในการป้องกันและรับมือกับโอกาสที่จะเกิดอุบัติการณ์ (Incident)

โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการร่วม (Joint Commission) [การรับรองมาตรฐานในประเทศไทยคือ Hospital Accreditation (HA)] ก็จะคุ้นเคยกับรายละเอียดในมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งแต่ละมาตรฐานจะมีพื้นฐานของการปฏิบัติงาน (Element of Performance : EP) อย่างชัดเจน

คณะกรรมการร่วมได้กำหนดมาตรฐานใน 3 เรื่อง อันได้แก่ ความปลอดภัยโดยทั่วไป (General safety) ความมั่นคง (Security) และความปลอดภัยจากไฟไหม้ (Fire safety) อันที่จริงมาตรฐานการรับรองในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 และระบบชื่อเรียก (Nomenclature) ของหน้าที่งานการต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยบางโรงพยาบาลได้รวมหน่วยงานเหล่านี้เข้าด้วยกัน ภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน

ความมั่นคงและปลอดภัยในโรงพยาบาล เป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถไม่น้อย เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่เปิดทำการวันละ 24 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 7 วัน ในหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลได้มุ่งเน้นบริการที่เป็นมิตร และให้สาธารณชนเข้าถึงง่าย มากกว่าที่จะคำนึงถึงความมั่นคงและปลอดภัย ดังนั้นทั้งผู้เยี่ยมไข้และผู้ป่วยต่างคุ้นเคยกับความง่ายในการเข้า-ออกโรงพยาบาล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงในด้านความมั่นคงและปลอดภัย

เมื่อพิจารณาภัยคุกคามที่โรงพยาบาลเผชิญอยู่ทุกวันนี้ โรงพยาบาลจำต้องมีนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติในการควบคุมการเข้าถึงโรงพยาบาล ที่กำหนดให้ผู้เข้า-ออกโรงพยาบาล ต้องแสดงตนได้ (Identify) การป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงบางส่วนของโรงพยาบาล จึงเป็นสิ่งจำเป็นขั้นต้น (Prerequisite) สำหรับมาตรการความมั่นคงและปลอดภัย

การประเมินปฏิบัติการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ จะช่วยค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อนในโครงสร้างพื้นฐานของการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย ผู้เยี่ยมไข้ และบุคลากรโรงพยาบาล แล้วยังช่วยผู้บริหารในการวิเคราะห์และกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติ (Protocol) เพื่อลดภัยคุกคาม และความล่อแหลมต่อความเสี่ยง (Vulnerability)

เช่นเดียวกับกรณีฉุกเฉิน ความมั่นคงและปลอดภัยเป็นแนวความคิดของระบบที่ต้องอาศัยการฝึกอบรม การเฝ้าระวัง (Surveillance) และการค้นหาปัญหาอย่างทันควัน ตลอดเวลา โครงการความมั่นคงและปลอดภัยจะประสบผลสำเร็จได้ต้องได้รับพันธสัญญา (Commitment) จากผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล โดยมีจุดประสงค์ในการค้นหาข้อบกพร่องในปฏิบัติการที่อาจมีอันตราย (Hazard) ซึ่งแนวทางใหม่ของคณะกรรมการร่วม บังคับให้โรงพยาบาลต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นต่างๆ ทางด้านความมั่นคงและปลอดภัยพร้อมแผนงาน (Action plan) แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)