ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 104 : แผนกวิศวกรรมชีวการแพทย์

ฝ่ายวิศวกรรมของโรงพยาบาลบางแห่ง ยังอาจมีแผนกวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical engineering) หรือวิศวกรรมการแพทย์ (Clinical engineering) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลอุปรกณ์ทางการแพทย์ อันได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ (Diagnostic equipment) เพื่อวัดค่าตัวแปรทางสรีรวิทยา (Physiological parameters) ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และอุปกรณ์ส่องแสง (Radiant energy)

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ (Devices) หลากหลายที่ใช้ในการบำบัดรักษา (Therapeutic treatment) การกู้ชีพ (Resuscitation) อวัยวะเทียม (Prosthesis) กายภาพบำบัด (Physical therapy) เครื่องสนับสนุนการผ่าตัด (Surgical Support) และเครื่องเฝ้าติดตามผู้ป่วย (Patient monitoring)

แผนกวิศวกรรมชีวการแพทย์ ยังรับผิดชอบงานอื่นๆ ที่แยกประเภทเป็นระดับ โดยที่ ระดับที่ 1 เกี่ยวข้องกับการซ่อมอุปกรณ์ และดูแลเอกสารของประวัติการซ่อมและต้นทุน ระดับที่ 2 เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) ซึ่งรวมทั้งการตรวจสอบความปลอดภัย (Safety) ด้านไฟฟ้า อุปกรณ์ใหม่ และการเตรียมการก่อนใช้อุปกรณ์ ส่วนระดับที่ 3 เกี่ยวข้องกับการบริหารและออกแบบ (ซึ่งรวมทั้งการวางแผน จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง แจ้งภัย (Hazard notification) และส่งเสริมมาตรการความปลอดภัย

โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ทั้งหมดอย่างเพียงพอ เพราะการทำงานอย่างถูกต้องของอุปกรณ์เหล่านี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อการดูแลผู้ป่วย และความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจะต้อง . . .

  1. กำหนดให้มีโปรแกรมบำรุงรักษาภายใน (In-house)
  2. ติดต่อผู้ให้บริการ (Vendor/supplier) เพียงรายเดียวที่เชื่อถือได้
  3. ร่วมมือกับโรงพยาบาลอื่นๆ ในการปันบริการ (Shared service)
  4. ใช้บางส่วนของบริการจากผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่าย

วิธีที่ 4 จะตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด แต่ก็เป็นวิธีการที่แพงที่สุดเช่นกัน ส่วนบุคลากรที่ให้การสนับสนุนการ

บำรุงรักษา เป็นผู้เชี่ยวชาญอุปกรณ์ชีวการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ โดยที่ระดับที่ 1 เป็นระดับปฏิบัติการ (Operations) ที่ได้รับการฝึกฝนระหว่างปฏิบัติงาน (On-the-job training) ในโรงพยาบาล รับผิดชอบต่อการจัดตั้ง (Set up) ตรวจสอบ และใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

ส่วนระดับที่ 2 เป็น ความชำนาญด้านเทคนิค ที่ได้รับการฝึกอบรมอุปกรณ์ชีวการแพทย์เฉพาะเครื่อง จนสามารถสร้าง (Construct) และซ่อม (Repair) อุปกรณ์ที่ซับซ้อนได้ ในสหรัฐอเมริกา มีการรับรอง (Certify) ขีดความสามารถดังกล่าวโดยสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของเครื่องมือทางการแพทย์ (Association for the Advancement of Medical Instrumentation)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)