ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 103 : ฝ่ายวิศวกรรม

การทำสัญญาว่าจ้างซ่อมบำรุง (Contract maintenance) เป็นการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ในการซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอุปกรณ์ขนาดใหญ่ อาทิ ลิฟต์ และเครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงพยาบาลขยายตัวและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญในวงการที่จำกัด (Esoteric clinical equipment) อาทิ อุปกรณ์ฉายรังสีทันสมัย จึงต้องอาศัยบริการของผู้เชี่ยชาญเฉพาะทางจากภายนอก เข้ามาเสริมทีมงานซ่อมบำรุง

ในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แผนกซ่อมบำรุงจะขึ้นอยู่กับฝ่ายวิศวกรรม (Engineering) ซึ่งดูแลระบบไฟฟ้าและหม้อต้มน้ำ (Boiler) เป็นต้น กล่าวคือ ดูแลระบบต่างๆ ทั่วทั้งโรงพยาบาล อาทิ ความร้อน (Heat) อากาศเย็น (Cool air) แสงสว่าง (Light) และสูญญากาศ (Vacuum)

โรงพยาบาลหลายแห่งมีการเผลิตพลังงานใช้เอง สำหรับหน่วยงานวิกฤต (Critical functions) อาทิ การไฟฟ้าสำรอง (Standby power) ภายในโรงพยาบาล สำหรับเครื่องฆ่าเชื้อ (Sterilizer) เครื่องทำความเย็น (Chiller) และอุปกรณ์ในห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด

ฝ่ายวิศวกรรมยังต้องดูแลเรื่องการประหยัดพลังงาน (Energy conversation) เนื่องจากปฏิบัติการในโรงพยาบาล ต้องดำเนินไปตลอด 7 วัน ต่อสัปดาห์ ปีละ 52 สัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานมาก อาทิ เครื่องซีที /เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT = Computed tomography) และเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic Resonance Imaging) ในแผนกรังสีวิทยา

ฝ่ายวิศวกรรมยังรับผิดชอบการปรับปรุงอาคาร (Renovation) ภายในโรงพยาบาล เนื่องจากต้นทุนของการก่อสร้างอาคารใหม่ จะค่อนข้างสูง การปรับปรุงอาคารเก่าจึงเป็นทางเลือกของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ แต่ถ้าปราศจการบริหาร (ซึ่งรวมทั้งการวางแผนและการจัดการบุคลากร) ที่ดีพอของฝ่ายวิศวกรรม การปรับปรุงอาคารเก่า ก็อาจมีต้นสูงพอๆ กับการก่อสร้างอาคารใหม่

นอกจากนี้ ฝ่ายวิศวกรรมยังอาจได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานที่จอดรถ (Parking facilities) การมีบริเวณจอดรถที่เพียงพอ สะดวก และปลอดภัย [อาทิ มีไฟสว่างไสว โดยเฉพาะในเขตที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม] เป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาด [ในการดึงดูดผู้ป่วย เข้าโรงพยาบาลเอกชน และสร้างความพึงพอใจให้ผู้ป่วยและบุคลากร ของโรงพยาบาลรัฐ]

ที่จอดรถ เป็นที่ต้องการมากในช่วงเหลื่อม (Overlap) ระหว่างเปลี่ยนกะในตอนกลางวัน (7.00 น. ถึง 15.30 น.) และตอนเย็น (15.00 น. ถึง 23.30 น.) ที่จอดรถมี 3 แบบ ได้แก่แบบบนพื้นดิน (Surface) ที่มีต้นทุนต่ำสุด แบบใต้ดิน (Underground) ที่มีต้นทุนสูงสุด และแบบที่ยกขึ้นเหนือพื้นดิน หลายระดับ (Multi-level parking) ที่มีต้นทุนปานกลาง ควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)