ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 102 : แผนกซ่อมบำรุง

แผนกซ่อมบำรุง (Maintenance) มักไม่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย และผู้เยี่ยมไข้ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลสมัยใหม่ [ดังนั้น แผนกนี้จึงมักถูกละเลย หรือมองข้ามความสำคัยไป] แต่อันที่จริงแล้ว แผนกนี้มีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมอุปกรณ์ อาคาร และชั้นใต้ดิน โดยเฉพาะอาคารเก่า หรือโรงพยาบาลที่ตั้งมานานแล้ว ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น

ในอดีต การซ่อมบำรุงอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบประปา หม้อต้มน้ำ (Boiler) ระบบท่อประปา (Plumbing) [และท่อน้ำบาดาลจากใต้ดินในบางโรงพยาบาล] ระบบไฟฟ้า (Electrical power) รวมทั้งระบบไฟฉุกเฉิน และการกำจัดขยะปฏิกูล (Waste disposal)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความซับซ้อนของทั้งอาคารและอุปกรณ์ ทำให้บทบาทของการซ่อมบำรุง เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเป็นเงาตามตัว และเพิ่มภาระของแผนกนี้ไปด้วยโดยปริยาย นอกจากนี้ แผนกนี้ยังต้องรับผิดชอบการซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน (Interior) และภายนอก (Exterior) ของตัวอาคาร ตลอดจนภูมิทัศน์ (Landscaping) [และระบายน้ำท่วมขัง]

มาตรการที่ดีคือการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) ซึ่งปฏิบัติเป็นประจำเพื่อให้อาคารสถานที่อยู่ในสภาพที่ดูดี และอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในสภาพใช้งานได้ ปราศจาก “การล่ม” (Breakdown) อันได้แก่ การตรวจสอบ (Inspection) ตามตารางเวลา การปรับปรุง และการซ่อมบำรุงตามมาตรฐานที่กำหนด

การบันทึกกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญของการซ่อมบำรุงเชิงป้องกันอย่างเพียงพอ ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้า รวมทั้งการบันทึกเป็นรายการทะเบียน อาทิ วันเดือนปีที่ซื้ออุปกรณ์แต่ละชิ้น การซ่อมแซมครั้งใหญ่ (Major repair) รวมทั้งรายงานการตรวจสอบ

เอกสารที่สำคัญที่สุดในการควบคุมการซ่อมบำรุง คือ คำสั่งงาน (Work order) ซึ่งใช้เพื่อวางแผน จัดทำงบ ประมาณ จัดตารางทำงาน และการควบคุมแรงงาน ตัวอย่างรายการของการสั่งงาน รวมถึงวันที่ร้องขอให้บริการ (Requisition) วันที่ต้องได้รับบริการ หมายเลขคำสั่งงาน อุปกรณ์ และ/หรือวัสดุ ที่ต้องการ การประมาณการจำนวนชั่วโมงที่จำเป็นต่อการทำงานให้สำเร็จลุล่วง ตลอดจนคำอธิบายลักษณะงาน (Job description) และชื่อของหัวหน้างานของแผนกที่ร้องขอให้บริการ

โรงพยาบาลบางแห่งใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน รวมทั้งระบบอัตโนมัติในการประมวลคำสั่งงาน ทำให้แผนกซ่อมบำรุง สามารถตอบสนองอย่างรวดเร็ว [ต่อความต้องการของผู้ใช้] และมีประสิทธิภาพต่อการร้องขอให้บริการ และการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ (Complaint)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)