ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 100 : การควบคุมและจ่ายแจกผ้าที่ซักรีดแล้ว

แผนกซักรีดผ้า (Laundry) ให้บริการแก่หลายๆ หน่วยงานในโรงพยาบาล นอกเหนือไปจากหน่วยดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit) อาทิ ห้องผ่าตัดซึ่งใช้ผ้าในปริมาณมาก ส่วนห้องคลอดและแผนกรังสีวิทยา ก็ใช้ผ้ากาวน์ (Gown) และผ้าชุด (Drape) ในปริมาณไม่น้อยทีเดียว

แผนกจ่ายกลางวัสดุปลอดเชื้อ (Central Sterile Supply Department : CSSD) ก็เป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ของแผนกซักรีด เพราะต้องใช้ในการจัดชุดปลอดเชื้อ (Sterile pack) และห่อเครื่องมือผ่าตัด (Instrument) นอกจากนี้ แผนกบริการสภาพแวดล้อม (Environmental services) ก็เป็นลูกค้ารายสำคัญของแผนกซักรีดผ้า

ปัญหาเรื้อรังที่โรงพยาบาลต้องเผชิญมาแต่ดั้งเดิม ได้แก่ การควบคุมผ้าที่ซักรีดอย่างมีประสิทธิผล อาจกล่าวได้ว่า การดูแลผู้ป่วย ขวัญกำลังใจของบุคลากร และการเงินของการบริหารโรงพยาบาล จะได้รับผลกระทบในเชิงลบหากปริมาณผ้าที่ซักรีดไม่เพียงพอ ณ เวลาที่ต้องการ

วิธีการหนึ่งที่จะควบคุมการจ่ายแจก (Supply) ผ้าที่ซักรีดแล้ว คือการกำหนดเป็นตารางปฏิบัติการแต่ละระดับ หรือระดับเกณฑ์สมดุล (Par level) เกณฑ์ดังกล่าวคือปริมาณผ้าที่ซักรีดแล้วในคลัง (Inventory) ที่ต้องการ ในช่วงเวลาเฉพาะ ณ บริเวณหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในหน่วยดูแลผู้ป่วย มักมีการวางแผนระดับเกณฑ์สมดุล เป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์

อีกวิธีหนึ่งของการควมคุมผ้าที่ซักรีดแล้ว คือการทำเครื่องหมายที่เหมาะสม อาทิ จารึกชื่อแผนก ชื่อโรงพยาบาล หรือสัญลักษณ์ไว้ ด้วยการถักทอ ประทับตรา (Stamp) หรือใช้การอัดพิมพ์ (Decal) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ประสิทธิผลในการลดทอนความสูญเสียให้น้อยที่สุด และช่วยป้องกันการลักขโมยได้ด้วย

โรงพยาบาลหลายแห่งใช้สีต่างๆ กันในผ้าที่ใช้ เพื่อแยกแยะแผนกต่างๆ กัน อาทิ ห้องผ่าตัดใช้สีเขียว แผนกห้องคลอดใช้สีฟ้าหรือสีชมพู แผนกอายุรกรรม อาจใช้ผ้าที่มีลายแบบ (Pattern) เพื่อง่ายต่อการค้นหาและแยกแยะ แล้วยังป้องกันความสับสนได้ดีอีกด้วย

ในทางปฏิบัติมี 2 วิธีการ ในการแจกจ่ายผ้าที่ซักรีดแล้วไปยังหน่วยงานพยาบาลต่างๆ ในวิธีการแรก มักมีการส่งผ้าสะอาด ในแต่ละวัน ณ ชั้นที่ทำงานของพยาบาล (Nursing floor) ก่อนเริ่มกะแรกเวลา 7.00 น. โดยรถเข็นจากหน่วยงานกลาง (Centralized) ไปส่งตามตารางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ในการหมุนเวียนจากหน่วยงานพยาบาลชั้นหนึ่งไปยังอีกชั้นหนึ่ง

ในวิธีการที่ 2 เป็นรถเข็นที่แยกตามหน่วยงาน (Decentralized) [กล่าวคือ ไม่ใช้ปะปนกัน] โดยแต่ละหน่วยดูแลผู้ป่วย มีคลังย่อยของผ้าที่ซักรีดแล้ว เก็บอยู่ ณ ชั้นที่ทำงานของพยาบาล เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน [ส่วนคลังใหญ่ของผ้าที่ซักรีดแล้ว พร้อมรถเข็นที่บรรจุเตรียมพร้อมส่ง อาจยังอยู่ในความดูแลของแผนกซักรีดผ้าต่อไป]

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)