ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 9 : โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดไปทั่ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการไป แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นยังประโยชน์บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกร

ดังนั้น 5 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรกในประเทศไทย ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ

ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลง ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยิ่งนัก ถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้น

ครั้นเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลังดังกล่าว แล้วยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย โดยในระยะแรก ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง

เมื่อ 124 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” สำหรับทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย ต่อมาได้โปรดเกล้าให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย และพัฒนาขึ้นเป็นคณะแพทยศาสตร์จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี

ครั้นถึง พ.ศ. 2512 ได้สถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล จึงเปลี่ยนนามเป็นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงพัฒนายกระดับมาตรฐานทางวิชาการแพทย์ และโรงพยาบาลศิริราชเข้าสู่มาตรฐานสากล

ส่วนสถานพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย คือ Bangkok Nursing Home ซึ่งกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2441 เมื่อ 114 ปีที่แล้ว ด้วยความพร้อมใจของชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายและทำงานในประเทศไทย และนำโดยเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในปลายรัชกาลที่ 5 โดยพระบรมราชานุญาต พร้อมเงินสนับสนุนจากพระองค์

ในปีพ.ศ. 2534 สถานพยาบาลแห่งนี้ได้ก้าวสู่พัฒนาการครั้งสำคัญ เพื่อปรับองค์กรสู่ระดับมาตรฐานสากล โดยมีการก่อสร้างอาคารใหม่ในปี พ.ศ 2539 และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH) นับเป็นโรงพยาบาลนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน

ปัจจุบันโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ยังคงบรรยากาศร่มรื่นผสมผสานกับการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา ที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศและโรงเรียนแพทย์ในประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการรับรองคุณภาพ Hospital Accreditation (HA) ในระดับชาติ และ Joint Commission International (JCI) ในระดับนานาชาติ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.si.mahidol.ac.th/th/Hospitalhistory.asp
  2. http://www.bnhhospital.com/th/content.aspx?idCD=1