ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 35 : ระบบการให้บริการพยาบาล

การให้บริการพยาบาลมีอยู่หลายระบบ รูปแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือการพยาบาลตามกรณี (Case nursing) ในระบบนี้ พยาบาลจะวางแผนและบริการการดูแลผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งเป็นวิธีการยอดนิยมใน 30 ปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินอยู่ในสถาบันพยาบาลหลายแห่งในปัจจุบัน แต่ผู้ป่วยจะพบพยาบาลไม่ซ้ำหน้าในแต่ละกะ (Shift)

การพยาบาลตามกรณีเป็นวิธีที่ดีกว่าการให้บริการเป็นทีมงาน (Team nursing) ซึ่งมีเพียงพยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse : RN) เป็นหัวหน้าทีม ประกอบด้วยลูกทีมที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล เพราะความขาดแคลนพยาบาลวิขาชีพ โดยทั้งทีมจะมีการพัฒนาแผนการพยาบาล (Care plan) สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ตามสายบังคับบัญชา “แนวดิ่ง” (Vertical)

การจัดองค์กรใน “แนวดิ่ง” สอดคล้องกับพยาบาลตามหน้าที่ (Functional nursing) ซึ่งมีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ตามความเชื่ยวชาญเฉพาะของพยาบาลในแต่ละงาน อาทิ พยาบาลคนหนึ่งอาจทำหน้าที่ให้ยา อีกคนหนึ่งดูแลการรักษา คนที่ 3 รับผิดชอบการวัดอุณหภูมิและความดันโลหิต ส่วนคนที่ 4 เตรียมผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัด หรือฉายแสง

แต่พยาบาลทุกคนต้องอาบน้ำผู้ป่วย จัดแจงเตียงนอน และสนองความต้องการของผู้ป่วยทั้งในด้านจิตวิทยาและอารมณ์ความรู้สึก แม้จะให้ผู้ช่วยพยาบาลแบ่งเบาภาระง่ายๆ และพยาบาลวิชาชีพรับผิดชอบเฉพาะงานที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากร แต่ก็สร้างความไม่พึงพอใจในบรรดาผู้ให้บริการ เพราะความซ้ำซากจำเจของงานที่ทำ ซึ่งแบ่งตามความเชื่ยวชาญเฉพาะ

การพยาบาลตามกรณี ไม่ได้ประสิทธิผลเท่าแบบปฐมภูมิ (Primary care nursing) ซึ่งแผนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย อยู่ในความรับผิดชอบของพยาบาลคนเดียวกัน ดังนั้น พยาบาลเฉพาะราย ทำหน้าที่ประสานงาน ควบคุมดูแล และประเมินการดูแลผู้ป่วย ในหน่วยสายบังคับบัญชาวันละ 24 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 7 วัน

การพยาบาลตามกรณี เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ปัจจุบันใช้วิธีการนี้กับการดูแลผู้ป่วยแบบสหวิชาชีพ (Multi-disciplines) ได้ดี โดยเฉพาะพยาบาลต้องประเมินความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วย ร่วมมือกับนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ ซึ่งรวมทั้งแพทย์ด้วย และพัฒนาแผนการพยาบาลสำหรับผู้ป่วย

การพยาบาลแบบปฐมภูมิ ให้การดูแลรักษา (Custodial care) ผู้ป่วยขั้นพื้นฐาน อาทิ การอาบน้ำ และการป้อนอาหาร ตลอดจนความต้องการเฉพาะ อาทิ การให้ยา ในทางปฏิบัติ พยาบาลแบบปฐมภูมิ อาจมอบหมาย (Delegate) งานบางอย่างให้ผู้อยู่ในกะอื่น รับช่วงแผนการพยาบาล ผ่านการบันทึก แต่ยึดหลัก 3 A อันได้แก่ Autonomy (การปฏิบัติงานตามลำพังอย่างอิสระ) Authority (อำนาจ) และ Accountability (ความรับผิดชอบ)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)