ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 33 : นางผดุงครรภ์

นางผดุงครรภ์ (Mid-wife) [หมอตำแยในบริบทของไทย] คือนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ ที่ให้การดูแลครรภ์ก่อนคลอด (Prenatal care) แก่สตรีตั้งครรภ์ ดูแลทารกระหว่างกระบวนการคลอด (Birthing process) และช่วยดูแลทั้งทารกและมารดาหลังคลอด (Postpartum care) โดยทั่วไป นางผดุงครรภ์ ให้บริการระหว่างการตั้งครรภ์ตามปรกติและการคลอดตามปรกติ

แต่ถ้ากรณีมีภาวะแทรกซ้อน (Complication) นางผดุงครรภ์ก็สามารถตามสูติแพทย์ หรือแพทย์ทั่วไป มาให้การช่วยเหลือ พื้นฐานของการดูแลบำบัด อยู่ที่ความปลอดภัยที่ปราศจากวิธีแทรกแซง (Non-interventional means) กล่าวคือ การละเว้นจากการใช้ยาแก้ปวด (Pain medication) แต่ใช้วิธีการธรรมชาติในการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการใช้แรง [เบ่ง] (Labor) เพื่อคลอดลูก (Delivery)

การทำงานของนางผดุงครรภ์ระหว่างกระบวนการคลอด สามารถช่วยลดระยะเวลา (Duration) ของการคลอดได้ ลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวด ลดการใช้คีมคีบ (Forceps) และเครื่องมือผ่าตัดอื่นๆ แล้วยังลดโอกาสที่จะต้องผ่าท้องมารดาเอาทารกออก (Cesarean section)

การฝึกฝนอบรมหรือการศึกษาของนางผดุงครรภ์ มักเริ่มต้นด้วยระดับเบื้องต้น (Direct-entry midwife : DEM) ซึ่งนางผดุงครรภ์จะได้ทักษะที่จำเป็น โดยการสมัครเข้าเป็นผดุงครรภ์ฝึกหัด (Apprentice) จากนางผดุงครรภ์อาวุโส หรือแพทย์โดยตรง หลังจากศึกษาทฤษฎีด้วยตนเอง (Independent study) หรือได้รับการฝึกอบรมในชุมชน (Community training) หรือจากโรงเรียนผดุงครรภ์ (Midwifery school)

DEM จะเน้นหนักภาคปฏิบัติจากประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการเป็นผู้ช่วยทำคลอดที่ในบ้าน (At-home delivery) และสามารถเลือกที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เมื่อสอบผ่านหลักสูตรระดับชาติ จะได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน (Certified midwifery : CM) ซึ่งทำให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระในคลินิกทางการแพทย์ หรือโรงพยาบาล

พยาบาลผดุงครรภ์ (Nurse-midwife) เป็นระดับที่สูงขึ้นไป โดยเป็นพยาบาลที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน (Registered nurse : RN) อยู่แล้ว ไปศึกษาต่อเพิ่มเติมในหลักสูตรผดุงครรภ์มาตรฐาน (Accredited) จนได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน (Certified nurse-midwife : CNM) ซึ่งทำให้สามารถสั่งจ่ายยา (Prescribe) ได้

นอกจากนี้ CNM ยังสามารถให้การดูแลก่อนตั้งครรภ์ (Preconception care) ก่อนคลอด และตรวจภายใน (Gynecological examination) รวมทั้งให้การดูแลระหว่างคลอดและหลังคลอด โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนการสื่อสารที่สนับสนุนผู้ตั้งครรภ์ให้มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการคลอด เพื่อให้การคลอดดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)