ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 32 : พยาบาลนักปฏิบัติ

พยาลบาลนักปฏิบัติ (Nurse Practitioner : NP) ก็คล้ายกับผู้ช่วยแพทย์ (Physician assistant : PA) ที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุมของแพทย์ ในการบำบัดรักษาทั้งร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Mental) โดยทั่วไป NP มีคุณสมบัติของพยาบาลที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน (Registered nurse : RN) อยู่แล้ว

แต่ NP ยังมีการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกด้านการพยาบาลขั้นก้าวหน้าและได้รับการฝึกฝนอบรมในสาขาเฉพาะวิชา โดย จะมุ่งเน้นการดูแลรักษาเฉพาะบุคคล (Individualized care) ในทุกวัยขึ้นอยู่กับขอบเขตและปฏิบัติการ NP มิได้คำนึงเพียงบำบัดรักษาผู้ป่วย แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบของการเจ็บป่วย (Illness) ต่อผู้ป่วยตลอดชีวิตและต่อครอบครัว

นอกจากนี้ NP ยังรับผิดชอบในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วย เพื่อสุขอนามัย (Wellness) ตลอดจนการป้องกัน (Prevention) วิธีการคำนึงถึงองค์รวม (Holistic outlook) ของการดูแลสุขภาพนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุสุขอนามัยทั้งทางอารมณ์ (Emotional) และจิตใจ (Spiritual) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถ “รับมือ” กับสถานการณ์ภายนอกของการดูแลสุขภาพ

หน้าที่ความรับผิดชอบของ NP สามารถเปรียบเทียบได้กับ PA กล่าวคือ นอกจากการให้ความร่วมมือกับแพทย์และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ แล้ว NP สามารถวินิจฉัยโรคและการบาดเจ็บของผู้ป่วย เฝ้าติดตาม (Monitor) ผู้ป่วยเรื้อรัง (Chronic) และสอนให้จัดการกับสภาพการณ์ (Conditions) ต่างๆ

NP อาจตรวจโรคทางกายภาพ (Physical examination) และศึกษาวินิจฉัย อาทิ ถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ (X-ray) หรือ ด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electroncardiogram : EKG) และตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory test) นอกจากนี้ยังสามารถสั่งจ่ายยา (Prescribe) แนะนำให้ส่งต่อไปบำบัดการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) รวมทั้งให้การดูแลครรภ์ก่อนคลอด (Prenatal care) และบริการวางแผนครอบครัว (Family planning)

NP สามารถทำงานกับสถาบันต่างๆ ตั้งแต่คลินิกสุขภาพของชุมชน (Community health clinics) [น่าจะเหมือนศูนย์ส่งเสริมสุขภาพตำบลของไทย] ศูนย์การดูแลเร่งด่วน (Urgent care center) งานประกันสุขภาพ การดูแลสุขภาพตามบ้าน (Home healthcare) ศูนย์สุขภาพสตรี (Women’s health center) สถานพักฟื้น (Nursing home) คลินิกส่วนตัวของแพทย์ คลินิกในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย รวมทั้งสถานพยาบาลทหารผ่านศึก (Veterans administration facilities)

นักวิชาชีพดูแลสุขภาพในระดับกลางนี้ คือกุญแจสำคัญของการแบ่งเบาภาระของแพทย์ที่ขาดคลานในบางท้องถิ่น ทั้ง PA และ NP สามารถช่วยทำงานแทนแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยขั้นต้นหรือปฐมภูมิ (Primary care) ในกรณีที่ขาดแคลนแพทย์สาขาสูติ-นรีเวช NP ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมเฉพาะสาขานี้ ก็อาจทำหน้าที่แทนได้เช่นกัน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือบริการของนางดุงครรภ์ (Mid-wife) ที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)