ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 31 : บุคลากรการพยาบาล

มีการศึกษาวิจัย พบว่า โรงพยาบาลที่มีอัตราส่วนสูงของจำนวนพยาบาลที่จบปริญญาตรี สามารถลดอัตราความเสี่ยงการตายของผู้ป่วยได้ 4% ดังนั้นระดับการศึกษาปริญญาตรี จึงมีความจำเป็น ไม่เพียงแต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมปฏิบัติการที่อิงหลักฐานจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการพยาบาล (Evidence-based practice)

ความสามารถในการอ่านผลงานวิจัย ได้รับการฝึกฝนในหลักสูตรปริญญาตรีเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็มีการขยายโอกาสการศึกษาวิชาการพยาบาลที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี พยาบาลจึงสามารถเลือกการศึกษาที่ผนวกกับภาคปกิบัติ แล้วได้รับปริญญาบัตรในขั้นสูงขึ้นไปอีก หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Clinical nurse specialist : CNS)

การพยาบาลในระดับปริญญาโท เป็นการเพิ่มเติมความรู้ขั้นก้าวหน้า ในฐานะนักการศึกษา (Educator) นักบริหาร (Administrator) หรือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CNS) ซึ่งครอบคลุมขอบเขตที่ตนสนใจ อาทิ พยาบาลสุขภาพของแม่และเด็ก พยายาลจิตวิทยา พยาบาลอายุรกรรม พยาบาลศัลยกรรม และพยาบาลวิสัญญี (Anesthetists) ส่วนการศึกษาในระดับปริญญาเอก จะเน้นหนักการวิจัยวิชาการพยาบาลในทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นทรัพยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในเชิงการปฏิบัติ (Clinical practice) ตลอดจนทักษะภาวะผู้นำ (Leadership)

บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางในสหรัฐอเมริกาได้รับการทดแทนด้วย “พยาบาลนักปฏิบัติ” (Registered nurse practitioner : RNP) ซึ่งมีปริญญาบัตรที่รับรองความสามารถในการประเมินสุขภาพ (Health assessment) และเภสัชศาสตร์ (Pharmacology) จึงสามารถออกใบสั่งยา (Prescription) ทั่วไป เพื่อลดภาระงานประจำ (Routine) ของแพทย์

สภาการพยาบาล (Board of Nursing) มีหน้าที่รับผิดชอบให้การออกทะเบียน ระงับชั่วคราว หรือเรียกคืนทะเบียน ในกรณีที่มีการละเมิดจรรยาบรรณ พยาบาลสามารถต่อทะเบียนได้เมื่อหมออายุ โดยต้องสำเร็จการศึกษาต่อเนื่องตามข้อกำหนด ผ่านการตรวจสอบระดับชาติ (National examination) และจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย

ในสหรัฐอเมริกามี “สมาคมการพยาบาลอเมริกัน” (American Nursing Association) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2439 เป็นสหพันธ์ที่รวมสมาคมดังกล่าวใน 50 รัฐ รวมทั้ง [เขตปกครองพิเศษ] District of Columbia (DC) และ อาณานิคมเปอโตริโก สมาคมวิชาชีพนี้กำหนดนโยบายและกฎหมายในประเด็นการดูแลสุขภาพ และการพยาบาล กำหนดมาตรฐานของวิชาชีพพยาบาล และตีพิมพ์ “จรรยาบรรณสำหรับพยบาล” (Code of Ethics for Nurses)

นอกจากนี้ยังมี “สันนิบาตการพยาบาลแห่งชาติ” (National League for Nursing : NLN) ซึ่งก่อตั้งใน ปี พ.ศ. 2494 เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและนวัตกรรมในการศึกษาวิชาการพยาบาล โดยมีสมาชิกที่ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลนักปฏิบัติ ผู้ช่วยพยาบาล แล้วยังมีแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีส่วนได้เสีย (Interest)) กับฝ่ายการพยาบาล ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)