ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 28 : องค์กรแพทย์และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ

หนึ่งในคณะกรรมการภายในโรงพยาบาลที่มีความสำคัญยิ่งยวด คือ องค์กรแพทย์ (Medical Staff Organization : MSO) ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นสมาชิก มักบริหารเป็นคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก โดยจัดให้มีการประชุมเดือนละครั้ง และเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) เข้าประชุมเป็นบางครั้ง

คณะกรรมการชุดนี้ มีหัวหน้าเป็นนายกองค์กรแพทย์ ทำหน้าที่กำหนดกฎระเบียบ ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของแพทย์ในแต่ละคน การฟ้องร้องในเรื่องต่างๆ ตามกฎหมาย และการประสานงานกับคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่กำกับความน่าเชื่อถือ (Credentials) ตรวจสอบภายใน (Internal audit) และปรับปรุงคุณภาพ (Quality improvement) เป็นต้น

คณะอนุกรรมการกำกับความน่าเชื่อถือ รับผิดชอบต่อการพิจารณาคุณสมบัติของแพทย์ใหม่ที่เข้ามา เพื่อรับแต่งตั้งเป็นสมาชิก และทบทวนคุณสมบัติของแพทย์ที่จะขอรับแต่งตั้งใหม่ (Reappointment) เพื่อต่ออายุเมื่อถึงกำหนด จำนวนปีที่ต้องต่ออายุขึ้นอยู่กับข้อกำหนดขององค์กรแพทย์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สอบสวนกรณีมีข้อกล่าวหาแพทย์ ในเรื่องความประพฤติมิชอบ (Misconduct) หรือการละเมิดจริยธรรม (Ethical breach)

คณะอนุกรรมการตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ประเมินการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาล อาทิ การประสานงานของแผนกพยาธิวิทยากับแผนกศัลยกรรม งานของแพทย์พยาธิวิทยาเป็นเครื่องมือยืนยันการตรวจวิเคราะห์กรณีทีต้องมีการผ่าตัด และทำหน้าที่ควบคุมมิให้มีการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น จากผลการชันสูตรเนื้อเยื่อ

คณะอนุกรรมการปรับปรุงคุณภาพ ทำหน้าที่ทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มพูนคุณภาพของผลลัพธ์ทางการแพทย์ (Clinical outcomes) อาทิ ความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการผ่าตัด ปริมาณและคุณภาพของการบันทึกการเจ็บป่วย การลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานร่วมกับพันธมิตรนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Allied health professionals)

นับวันบทบาทของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพทวีความสำคัญยิ่งขึ้น บุคลากรกลุ่มนี้มิใช่แพทย์แต่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐอเมริกาได้ อาทิ พยาบาลนักปฏิบัติ (Nurse practitioner) [ในปัจจุบัน ไม่มีในประเทศไทยแล้ว] และนักจิตวิทยา (Psychologist) แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และจิตแพทย์ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยแพทย์ (Physician assistant) นางผดุงครรภ์ (Mid-wife) [หมอตำแยในสมัยก่อน] นักบาทานามัย (Podiatrist) และนักจับกระดูกสันหลัง (Chiropractor) ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐอเมริกาได้ แต่นักวิชาชีพดูแลสุขภาพ 4 กลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในโรงพยาบาลในประเทศไทยตามกฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา(Medical Council) และทันตแพทยสภา (Dental Council)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)