ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 27 : แพทยสภาไทย

กฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมการแพทย์ฉบับแรกในประเทศไทยคือพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ซึ่งได้กำหนดให้มีองค์กรการควบคุมการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับการแพทย์ขึ้น เรียกว่า “สภาการแพทย์” และประกอบวิชาชีพการแพทย์นั้นตามกฎหมายฉบับนั้นเรียกว่า “การประกอบโรคศิลปะ”

รูปแบบของ “สภาการแพทย์” ดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้มีฐานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชากรมสาธารณสุข อันได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ดังนั้น “สภาการแพทย์” จึงมีฐานะทางราชการเท่ากับกรมสาธารณสุข มีลักษณะเป็นส่วนราชการ และไม่เปิดโอกาสให้มี “สมาชิก” เข้าสังกัด

อันที่จริง ในกฎหมายไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องของ “สมาชิก” ไว้เลย ต่อมาได้มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 กฎหมายใหม่นี้ ได้กำหนดให้มีองค์กรประกอบโรคศิลปะขึ้นใหม่เรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ” แทน “สภาการแพทย์”

ต่อมาใน พ.ศ. 2509 ได้มีคณะกรรมการแพทย์ระดับบริหารเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา ที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาเรื่อง “สภาการแพทย์” และได้มีมติรับหลักการที่เห็นควรให้มีพระราชบัญญัติ “แพทยสภา” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมมรรยาทของผู้ประกอบโรคศิลปะ และให้มีสิทธิ์ในการสอบความรู้ โดยให้การขึ้นทะเบียนยังคงอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข

ที่ประชุมได้ตั้ง อนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติ “แพทยสภา” (Medical Council) ขึ้น โดยอาศัยพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 เป็นแนวทางและต่อมาได้มีการเปลี่ยนหลักการบางอย่างมาเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 รวมทั้งการให้ “สมาชิก” เลือกตั้งกรรมการเพื่อบริหาร “แพทยสภา” กันเอง

ต่อมา ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตราที่ว่าด้วย “แพทยสภา” ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 และได้ใช้บังคับอยู่มาถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น “แพทยสภา” ในปัจจุบันจะมีอายุครบ 44 ปี ในวันที่ 9 ตุลาคม 2555

ผู้ที่เคยขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรมชั้นหนึ่ง ได้กลายสภาพเป็น “สมาชิกแพทยสภา” โดยมิต้องสมัครใหม่ และใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรมชั้นหนึ่ง กลายสภาพเป็นใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยปริยาย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)