ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 26 : การจัดองค์กรการแพทย์

การจัดองค์กรภายในของทีมงานการแพทย์แตกต่างไปตามแต่ละโรงพยาบาล โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ย่อมมีความซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ด้วยมาตรฐานการรับรองคุณภาพในโรงพยาบาล (Hospital accreditation : HA) ความแตกต่างดังกล่าว จะเริ่มลดน้อยลง

มาตรฐานดังกล่าว กำหนดให้มีทีมงานการแพทย์เดียวภายในโรงพยาบาล ที่มีความรับผิดชอบต่อคุณภาพของการให้บริการวิชาชีพแก่ผู้ป่วย การแต่งตั้งแพทย์ให้เป็นสมาชิกทีมงานการแพทย์เป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการที่แพทย์ยื่นใบสมัคร ที่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นฐานการศึกษา ประวัติการทำงาน หนังสือรับรอง ฯลฯ

ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์จะตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ในภาพรวม แล้วส่งต่อให้หัวหน้าความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา อาทิ อายุรกรรม(Medicine) หรือศัลยกรรม (Surgery) พิจารณา หากเห็นชอบด้วยก็จะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการกำกับความน่าเชื่อ (Credentials Committee) ตรวจสอบคุณสมบัติและประสบการณ์วิชาชีพในอดีต ซึ่งมักจะขอสัมภาษณ์ผู้สมัคร ณ จุดนี้ของกระบวนการ

ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ ในฐานะหัวหน้าทีมงานการแพทย์จะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาใบสมัคร แล้วลงมติที่จะอนุมัติ หรือปฏิเสธใบสมัครของแพทย์ แต่ก็สามารถเลื่อนการตัดสินใจไป ในกรณีที่ยังมีข้อสงสัย อาจต้องได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องสัมภาษณ์อีกครั้ง แล้วแจ้งให้ผู้สมัครทราบผลการตัดสินใจเป็นทางการ

ในกรณีที่อนุมัติใบสมัคร แพทย์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกทีมงานการแพทย์ใน 2 สถานะ กล่าวคือสถานะที่เป็นแพทย์ในแผนก (Clinical department) อาทิ สูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology) กุมารเวช (Pediatrics) และอุรเวช (Thoracic) ส่วนอีกสถานะหนึ่งคือ แพทย์ที่ปรึกษา (Consulting staff) ซึ่งมิใช่แพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง แต่เข้ามาให้คำปรึกษาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยบางรายในสาขาที่ตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าทีมงานการแพทย์ จะติดตาม (Monitor) และกำกับ (Restrict) การทำงานของแพทย์ทุกคนอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับคุณภาพของการให้บริการผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงพยาบาลและชุมชน เรียกลักษณะนี้ว่า “ระบบปิด” (Closed system) ซึ่งอาจเป็นระบบย่อยในแต่ละแผนกของโรงพยาบาล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแผนกรังสีวินิจฉัย (Imaging) แผนกฉุกเฉิน (Emergency) และแผนกพยาธิวิทยา (Pathology) ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่ง จะเซ็นสัญญาให้แพทย์ผู้เดียวหรือเป็นคณะ รับผิดชอบการทำงานของทีมแพทย์ตามกฎหมาย โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงิน การแพทย์ และการบริหาร

ส่วนใน “ระบบเปิด” (Open system) นั้น โรงพยาบาลเปิดรับแพทย์ทุกคนที่มีคุณสมบัติตรงตามแนวทาง (Guideline) ที่โรงพยาบาลกำหนด โรงพยาบาลในประเทศไทยเข้าใจว่าเป็น “ระบบเปิด” ทั้งหมด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)