ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 25 : ผู้ช่วยแพทย์

ความต้องการพันธมิตรนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Allied healthcare professionals) ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างโอกาสการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในระดับกลาง อาทิ ผู้ช่วยแพทย์ (Physician assistant : PA) พยาบาลนักปฏิบัติ (Nurse practitioner) และนางผดุงครรภ์ (Mid-wife) เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์ทั้งในชนบทและในเขตชั้นในของตัวเมือง [ซึ่งมักเป็นถิ่นที่อยู่ของคนยากจนในตัวเมือง ในสหรัฐอเมริกา]

บุคลากรเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนอบรมให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำตามระเบียบวิธีทางการแพทย์ (Routine medical procedure) ภายใต้การดูแลทางอ้อมโดยแพทย์ แต่ก็สามารถปฏิบัติงานอย่างอิสระในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย แล้วบำบัดรักษา หรือส่งต่อ (Refer) แพทย์หรือศัลยแพทย์เมื่อมีความจำเป็น และทำงานวิจัยหรือฝึกอบรมด้วย

PA ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยของแพทย์เท่านั้น แต่สามารถสั่งให้มีการตรวจวิเคราะห์และอ่านผลตรวจ ลงมือผ่าตัดเล็กขั้นพื้นฐาน (Rudimentary surgery) และสั่งจ่ายยา รวมทั้งงานเอกสาร โครงการ PA เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในทศวรรษ 1960 ที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Duke ในเมือง Durham รัฐนอร์ทแคโรไลนา

PA ต้องได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนไว้ (License) แล้วยังสามารถเข้ารับการฝึกฝนอบรมให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialty) ตามสาขาของแพทย์เฉพาะทาง และทำงานตามคลินิก โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐ จึงสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ ซึ่งจะใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักหรือต้องการความรีบด่วน

ในกรณีผู้ป่วยนอก (Outpatient) แพทย์สามารถปฏิบัติงานในสถานที่เดียวกับ PA เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย หรือปล่อยให้ PA ดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยสามัญ (Routine ailment) ทำงานตามลำพัง แต่ตามตัวได้เมื่อต้องการ หรือมาตรวจงานเป็นระยะๆ กล่าวคือ PA ดูแลการเจ็บป่วยในขั้นปฐมภูมิ (Primary care)

บทบาทของ PA ก็มิได้จำกัดอยู่แค่การดูแลสุขภาพขั้นต้นเท่านั้น เพราะประมาณครึ่งหนึ่งของ PA ทำงานอยู่ในเวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine) อายุรกรรม (Internal medicine) กุมารเวช (Pediatrics) และสูติ-นรีเวช นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเล็กเฉพาะสาขา เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency medicine) ตัจวิทยา [ผิวหนัง] (Dermatology) จิตเวช (Psychiatry) รังสีวิทยา (Radiology) และพยาธิวิทยา (Pathology)

ในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายของบ้านเมือง และกฎข้อบังคับของสมาคมวิชาชีพ อาทิ แพทยสภาและทันตแพทยสภา ทำให้บุคลากรหล่านี้ ไม่สามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาลได้ แต่การขาดแคลนแพทย์ในชนบทและในเขตชั้นในของตัวเมือง ทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติ โดยให้นักวิชาชีพดูแลสุขภาพเหล่านี้ อยู่ภายใต้กำกับควบคุมของแพทย์อีกทอดหนึ่ง เพราะแพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษทางการแพทย์ (Clinical privilege) ตามกฎหมาย ที่จะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)