ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 24 : หนทางสู่การเป็นแพทย์

ช่วงระยะเวลาในการศึกษาเพื่อเป็นแพทย์ จะยาวนาน และยากลำบากตรากตรำ (Arduous) การสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเน้นหนักวิชาชีววิทยา เคมี และวิทยศาสตร์สาขาอื่น อาทิ ฟิสิกส์ และต้องแข่งขันกับผู้สมัครจำนวนมาก หลังจากสิ้นสุดการศึกษาในห้องเรียนแล้ว ต้องเป็นแพทยฝึกหัด (Internship) แพทย์ประจำบ้าน (Residency) หรือฝึกอบรมให้เชี่ยวชาญเฉพาะสาชา (Specialty)

โรงพยาบาลสังกัดคณะแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน (Chief Resident) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ปกครอง บริหาร และสอนงานนักศึกษาแพทย์ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสำหรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ประจำอยู่

บัณฑิตแพทย์หลายคนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว สมัครเรียนต่อเพื่อให้ได้รับการรับรอง (Certified) เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งมีคณะกรรมการ (Board) ของแต่ละสาขา เป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติความเชี่ยวชาญ อาทิ คณะกรรมการความเชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ (Board of Surgery) เป็นผู้พิจารณายกระดับมาตรฐานจากแพทย์ทั่วไปเป็นศัลยแพทย์หลังการฝึกอบรมและสอบผ่านการประเมินว่ามีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ (Professional competency)

ในสหรัฐอเมริกา มีความเคลื่อนไหวที่จะให้มีการรับรองใหม่ (Recertification) ทุกๆ 10 ปี สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ เป็นความพยายามที่จะให้มั่นใจว่าแพทย์ยังคงรักษาระดับคุณสมบัติมาตรฐานของความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา แพทย์ที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (Hospital accreditation : HA) ผ่านการสอบวิชาชีพ และได้รับการประเมินจากคณะกรรมการเฉพาะสาขา ก็จะได้รับการรับรองใหม่

แพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทีมการแพทย์ของโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องแสดงหลักฐานของการมีส่วนร่วมในโครงการศึกษาต่อ (Continuing medical education : CME) ขอบเขตและความซับซ้อนของการศึกษาต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์แต่ละคน แต่ต้องตอบสนองความต้องการและทรัพยากรของโรงพยาบาล

ส่วนความต้องการของโรงพยาบาลก็ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ป่วยที่มารับบริการ การศึกษาต่อเนื่องจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติการทำงาน ที่ต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับความน่าเชื่อถือ (Credential Committee) กำหนด ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาและทบทวนโดยหัวหน้าทีมงานการแพทย์ เป็นช่วงระยะเวลา

“แพทยสภา” เป็นองค์กรที่รวมตัวของแพทย์ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อกำหนดและกำกับมาตรฐานการศึกษาและปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งจรรรโลงจริยธรรมของแพทย์ที่เป็นสมาชิก มีอำนาจถอดถอนใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ปฏิงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือละเมิดกฎระเบียบของสภา อาทิ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของการเป็นแพทย์

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)