ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 22 : แผนกห้องคลอด

แผนกห้องคลอด (Labor and delivery) มักเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลทั่วไป ตามปรกติ ผู้ตั้งครรภ์มักมีการ “ฝากท้อง” กับฝ่ายสูติ-นรีเวช มาหลายเดือน และผู้ใกล้คลอดมักมีการนัดหมายกับสูติแพทย์ล่วงหน้าในเรื่องวันและเวลา ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะนัดช่วงเช้า หากเป็นกรณีคลอดฉุกเฉิน โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะขอให้โทรศัพท์แจ้งเข้ามาก่อน เพื่อตระเตรียมห้องคลอดในหอผู้ป่วย (Maternity ward) ให้พร้อมก่อนผู้ใกล้คลอดจะเดินทางมาถึง

หากเป็นการคลอดตามธรรมชาติ ผู้ใกล้คลอดอาจแจ้งให้แพทย์ทราบ หรือแพทย์อาจให้พยาบาลโทรศัพท์ถามเป็นระยะๆ ถึงสถานภาพของการบีบตัว (Contraction) [ของมดลูก] ขึ้นอยู่กับความรีบด่วนของสถานการณ์ เมื่อมาถึงผู้ใกล้คลอด ติดต่อแผนกห้องคลอด เพื่อกรอกแบบฟอร์มต่างๆ อาทิ คำยินยอม และประกันภัย หรือสิทธิเบิกจ่าย

จากนั้น แผนกห้องคลอดจะผูกข้อมือผู้ใกล้คลอดเป็นกำไลข้อมือ (Bracelet) ทำด้วยกระดาษ ซึ่งจะพิมพ์ชื่อผู้ใกล้คลอดติดอยู่ และจะเป็นชื่อเดียวกันบนกำไลข้อมือกระดาษของลูกหลังคลอด หลังจากนั้น ผู้ใกล้คลอดจะพักในห้องที่จัดไว้เพื่อรอเวลาคลอด ซึ่งจะมีเตียง เสื้อกาวน์เพื่อเปลี่ยนเป็นชุดคลอด เครื่องเฝ้าติดตามผล (Monitor) ห้องน้ำ โทรทัศน์ ฯลฯ

เมื่อถึงเวลาคลอด หรือกรณีฉุกเฉิน เวรเปลจะนำผู้ใกล้คลอดเข้าห้องคลอดทันที ภายในห้องคลอด ทีมงานพยาบาลจะคอยดูแลผู้ใกล้คลอดตลอดเวลาจนหลังคลอด ยกเว้นกรณีที่ต้องใช้เวลายาวนานผิดปรกติในการคลอด โดยทั่วไป พยาบาลจะพยายามทำให้ผู้ใกล้คลอดมีความรู้สึกสบาย จิตใจปลอดโปร่ง เพื่อความสะดวกในการคลอด

แล้วเชื่อมโยง (Hook up) ผู้ใกล้คลอดกับเครื่องเฝ้าติดตามผล เพื่อตรวจสอบความถี่ (Frequency และช่วงระยะเวลา (Duration) ของการบีบตัว [ของมดลูก] และการเต้นของหัวใจทารก จากนั้น พยาบาลจะใช้เข็มเจาะฝ่ามือด้านหลังเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเตรียมฐานนำร่องในการรองรับการฉีดยาและสารอาหาร (Intravenous : IV) ระหว่างกระบวนการคลอด

โดยเฉพาะ การฉีดยาฮฮร์โมนเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก (Oxytocin) ผ่านฐานนำร่องดังกล่าว เพื่อตรวจสอบคอมดลูก (Cervix) เป็นระยะๆ ในเรื่องการขยายตัว (Dilation) และ การขยายบางตัว (Effacement) [ของปากมดลูก]ในช่วงนี้ สูติแพทย์ผู้เข้ามาในห้องคลอด และจะตัดสินใจเมื่อถึงเวลาใช้วิธี “บล็อกหลัง” (Epidural)

ในวิธีการดังกล่าว วิสสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist) จะให้ผู้ใกล้คลอดเอนตัวพิงหลัง ในอิริยาที่ผ่อนคลายหลัง แล้วฉีดยาชาเฉพาะที่ Local anesthetic) ณ บริเวณกระดูกสันหลัง (Spine) ผ่านการสอดเข็มและหลอดสวน (Catheter) เข้าแผ่นหลังผู้ใกล้คลอด ผู้ใกล้คลอดจะรู้สึกเย็นชา ค่อยๆ ทำให้ขาและเท้าหมดความรู้สึก ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะสอบถาม 2 – 3 ครั้งถึงความรู้สึก หรือการเคลื่อนไหวของขาผู้ใกล้คลอด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการคลอด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Labor and Delivery : What to Expect. http://smartmomma.com/pregnancy/labor_delivery_what_to_expect.htm [2012, December 31].
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)