ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 21 : ห้องผ่าตัด

ห้องผ่าตัด (Operating Room : OR) มีข้อกำหนดสภาพแวดล้อมที่เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจถึงการฆ่าเชื้อ (Sterilization) ตามหลักการปลอดเชื้อ (Aseptic principles) ภายในห้องตั้งแต่กำแพงจนถึงพื้น และแยกส่วนระหว่างสิ่งที่ติดเชื้อ (Sterile) และสิ่งที่ไม่ติดเชื้อ (Unsterile) โดยระมัดระวังในเรื่องสภาวะปนเปื้อน (Contamination)

นานาเครื่องมือผ่าตัด (Instrumentation) ต้องมีผิวราบเรียบ และชั้นหิ้งทำด้วยกระจกที่ง่ายต่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ส่วนใบหน้า มือ และแขน ของบุคลากรในห้องผ่าตัด ก็ต้องได้รับการล้างให้สะอาดและล้างฆ่าเชื้อ นอกเหนือจากการสวมใส่เสื้อกาวน์ (Gown) หมวก และถุงครอบรองเท้า ซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว อาทิ ด้วยหม้อนึ่งอัดไอน้ำ (Autoclave)

ส่วนศัลยแพทย์ และบุคลากรในห้องผ่าตัดต้องสวมถุงมือผ่าตัด (Surgical gloves) ตามแนวความคิดการผ่าตัดปลอดเชื้อ (Antiseptic surgery) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แล้ววิวัฒนามาเป็นห้องผ่าตัดในปัจจุบัน ซึ่งมักมีพื้นที่กว้างใหญ่ ง่ายต่อการทำความสะอาด มีแสงสว่างเพียงพอด้วยโคมไฟเหนือศีรษะ มีจอให้เห็นภาพ และมีเครื่องติดตามผล (Monitor)

โดยทั่วไป ห้องผ่าตัดจะไม่มีหน้าต่าง แต่จะมีสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น มีเครื่องกรองพิเศษที่รักษาความดันของอากาศภายในด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมกับอากาศภายนอก มีเครื่องไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินในกรณีไฟฟ้าดับ ภายในห้องมีกำแพงที่ติดตั้งเครื่องดูดของเหลวต่างๆ (Wall suction) ท่อออกซิเจน และก๊าซดมยาสลบ (Anesthesia gases)

อุปกรณ์สำคัญประกอบด้วย เตียงผ่าตัด โต๊ะวางเครื่องมือผ่าตัด รถเข็นยาชา และมีพื้นที่จัดเก็บวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัด (Surgical supplies) นอกจากนี้ยังมีภาชนะเก็บวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposables) ภายนอกห้องผ่าตัด จะมีบริเวณขัดฟอกล้าง (Scrub) มือและแขน สำหรับศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาล ก่อนการผ่าตัด

นอกจากนี้ ห้องผ่าตัดจะมีแผนที่แสดงการปรับเตียงและอุปกรณ์ให้คืนสภาพที่เหมาะสม หลังจากพนักงานทำความสะอาดได้ปฏิบัติหน้าที่ประจำวันเสร็จสิ้นแล้ว

ห้องผ่าตัดหลายๆ ห้องอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “หอผ่าตัด” (Operating suite: OS) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกต่างหากภายในโรงพยาบาล นอกจากห้องผ่าตัดและห้องน้ำแล้ว หอผ่าตัดยังมีห้องสำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า ชำระล้าง และพักผ่อนสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด

แล้วยังมีห้องสำหรับเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด (Preparation room) และให้ผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด (Recovery room) คลังเก็บวัสดุ ห้องทำงาน เฉลียงทางเดิน และหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มักมีหอผ่าตัดที่ควบคุมอากาศและสิ่งแวดล้อม แยกออกจากส่วนอื่นๆ เพื่อว่าบุคลากรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Operating theater. http://en.wikipedia.org/wiki/Operating_theater [2012, December 27].
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)