ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 20 : แผนกห้องผ่าตัด

แผนกห้องผ่าตัดรับผิดชอบการใช้เครื่องมือผ่าตัดผู้ป่วยบนเตียง เพื่อค้นหาและรักษาโรค หรือการบาดเจ็บ หรือปรับปรุงแก้ไขสภาพ (Appearance) ของร่างกาย ก่อนเริ่มการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย และทดสอบตรวจวิเคราะห์ (Test) เพื่อยืนยันความพร้อม จากนั้นผู้ป่วยต้องลงนามในใบยินยอม (Consent) ให้มีการผ่าตัด

ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำให้อดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด เพื่อลดผลกระทบจากสิ่งที่คงค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการให้ยาสลบก่อนการผ่าตัด และลดความเสี่ยงการสำลักอาหารเข้าปอด (Aspiration) หากผู้ป่วยอาเจียนระหว่างหรือหลังการผ่าตัด ในกรณีผ่าตัดเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร (Digestive system) ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำให้ถ่ายท้อง (Bowel prep) เช่น การดื่มสารละสายโพลีเอธิลีนไกลคอล (Polyethylene glycol) คืนก่อนผ่าตัด

ในห้องเตรียมการ ผู้ป่วยจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดรับการผ่าตัด รับฟังรายละเอียดของการผ่าตัด บันทึกผลสัญญาณชีพ (Vital signs) เตรียมท่อเข้าหลอดเลือดดำ (Peripheral intravenous line) และฉีดยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยาระงับประสาท (Sedative) ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ห้องผ่าตัด ต้องมีความพร้อม อาทิ ขนในบริเวณที่จะผ่าตัด ต้องถูกโกนออกก่อน

เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ (Infection) พื้นผิวหนังที่จะผ่าตัด (Operating field) ต้องได้รับการทำความสะอาด แล้วฆ่าเชื้อ เช่น ด้วยคลอเร็กซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate) หรือโพวิดีน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) ผู้ป่วยจะได้รับการคลุมร่างกายด้วยผ้าที่ปลอดเชื้อ (Sterile drapes) ยกเว้นศีรษะและบริเวณที่จะผ่าตัด (Surgical site)

วิสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist) จะช่วยจัดท่าผู้ป่วยเพื่อผ่าตัด (Surgical position) แล้วให้ยาชา (Anesthesia) เพื่อป้องกันความเจ็บปวดจากการลงมีดผ่าตัด (Incision) การจับต้องเนื้อเยี่อ (Tissue manipulation) และการเย็บแผล (Suturing) ในการฉีดยาชาเฉพาะที่ (Local anesthesia) ผู้ป่วยยังคงมีความรู้สึกอยู่ หรือถูกระงับประสาทเพียงเล็กน้อย

แต่การให้ยาสลบ (General anesthesia) ทำให้ผู้ป่วยหมดสติ (Unconscious) และเป็นอัมพาต (Paralyzed) ต้องหายใจผ่านท่อที่เชื่อมโยงไปยังเครื่องระบายอากาศ (Mechanical ventilator) ระหว่างการผ่าตัด ซึ่งใช้เครื่องหนีบจับ (Clamp) หลอดเลือดเพื่อป้องกันเลือดไหลออก (Bleeding) และเครื่องถ่าง (Retractor) เพื่อเปิดขยายแผลผ่าตัดออก

ในการผ่าตัดหน้าท้อง (Abdominal surgery) ต้องลงมีดตัด (Dissection) หลายชั้น โดยทะลุ (Traverse) ผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ชั้นของกล้ามเนื้อ และเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) ในกรณีผ่าหัวกระโหลกเพื่อผ่าตัดสมอง หรือตัดกระดูกสันนอก (Sternum) เพื่อผ่าตัดทรวงอก (Thoracic surgery) ต้องตัดถึงกระดูกเพื่อให้เข้าถึงด้านใน (Interior) ของร่างกาย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Surgery. http://en.wikipedia.org/wiki/Surgery [2012, December 25].
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)