ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 19 : แผนกต่างๆ ในฝ่ายการแพทย์ (5)

แผนกหัวใจ (Cardiology) ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือการไหลเวียนของโลหิต และรักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก หัตถการ (Procedures) ทางหัวใจ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG) และการทดสอบการออกกำลังกายเพื่อวัดการทำงานของหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Echocardiograms)

นอกจากนี้ยังมีการฉายภาพ (Scan) หลอดลือดแดงใหญ่ในลำคอ (Carotid artery) เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การตรวจสอบความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง การบรรจุเครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ (Pace-maker) และการสวนหัวใจ (Cardiac catheterization or Coronary angiography) เพื่อดูสิ่งกีดขวางในหลอดเลือดแดง

แผนกเบาหวาน (Diabetes) ประเมินภาวะเสี่ยงก่อนการเป็นเบาหวาน (Pre-diabetes) รวมทั้งวิธีป้องกันโรคเบาหวาน ให้บริการสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก่อนคลอดทารก (Pre-natal diabetes) อย่างปลอดภัย การรักษาด้วยเลเซอร์สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตา (Eye diabetes) เพื่อป้องกันตาบอด รักษาโรคแทรกซ้อน (Complications) จากเบาหวาน อาทิ การผ่าตัดเส้นเลือดเพื่อรักษาเท้า ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร (Dietary) และให้การวินิจฉัยและรักษาโรคทางระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine)

แผนกประสาทวิทยา (Neurology) ดูแลความผิดปรกติ (Disorder) ของระบบประสาท (Nervous system) รวมทั้งสมอง (Brain) และลำกระดูกสันหลัง (Spinal cord) โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นหัวหน้า พร้อมทีมงาน นอกจากนี้ยังมีแพทย์ประสาทสำหรับเด็กโดยเฉพาะ (Pediatric neurologist) และแพทย์ผู้วิจัยและทดสอบผู้ป่วยเป็นโรคประสาท รวมทั้งพยาบาลเฉพาะทาง อาทิ โรคลมชัก หรือล้มบ้าหมู (Epilepsy) และปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis) ที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วย และแพทย์เวชปฏิบัติ (General Practitioner : GP) ระหว่างรอคอยนัดแพทย์เฉพาะทางครั้งต่อไป

แผนกโรคมะเร็ง (Oncology) ให้บริการด้านรังสีรักษา (Radiotherapy) และเคมีบำบัด (Chemotherapy) สำหรับเนื้องอกร้าย (Cancerous tumor) และความผิดปรกติของโลหิต (Blood disorder) โดยแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะสาขา อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งลำไส้ (Colon cancer) มะเร็งในปอด มะเร็งในสมอง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทำงานใกล้ชิดกับทีมแพทย์ศัลยกรรม และอายุรกรรมในแผนกอื่นๆ

ในปัจจุบัน มีการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยเครื่องมือรังสีวิทยา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) รวมทั้งรังสีร่วมรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และได้มาตรฐานวิชาชีพ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. G1. A to Z of hospital departments. http://www.netdoctor.co.uk/health-services-guide/hospital-departments.htm [2012, December 14]
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)