ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 16 : แผนกต่างๆ ในฝ่ายการแพทย์ (2)

แผนกศัลยกรรม ดูแลการผ่าตัดทั่วไป เช่น การผ่าตัดต่อมไทยรอยด์ (Thyroid surgery) การผ่าตัดทรวงอก (Thoracic surgery) การผ่าตัดเปลี่ยนไต (Kidney transplant) การผ่าตัดลำไส้ (Colon surgery) การผ่าตัดถุงน้ำดี (Laparoscopic cholecystectomy) และการส่องกล้องและการผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Endoscopy) ตลอดจนการผ่าตัดเล็กที่ไม่ต้องนอนค้างคืนในโรงพยาบาล (Day surgery) อาทิ การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อน (Hernia repair)

สำหรับการผ่าตัดผ่านทางกล้องนั้น ใช้ท่อขนาดเล็กที่มีกล้องถ่ายรูปอยู่หลายท่อ สอดเข้าไปทางลำคอเพื่อตรวจค้น (Investigate) ปัญหาในหลอดอาหาร (Esophagus) และในระบบย่อยอาหาร (Digestive system) อาจสอดเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายในลักษณะเดียวกัน เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค

นอกจากนี้ ยังมีศัลยกรรมตกแต่ง (Plastic surgery) และ ศัลยกรรมเพื่อความงาม (Cosmetic surgery) เพื่อตกแต่งรูปร่างให้เป็นปกติ เสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีรูปร่างที่ดีขึ้นและมีความมั่นใจในตัวเอง

แผนกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับศัลยกรรม คือแผนกวิสัญญี ซึ่งแพทย์ในแผนกนี้จะให้ยาชาหรือยาสลบ (Anesthetic) แก่ผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และดูแลหลังการผ่าตัดด้วย อาทิ การบรรเทาอาการเจ็บปวดรุนแรงหลังการผ่าตัด (Acute pain) การ บรรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง (Chronic pain) เป็นเวลายาวนาน การดูแลวิกฤต (Critical care) หลังเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัส (Trauma) ตลอดจนการผ่าตัดแบบใช้ยาชาทางน้ำไขสันหลัง (Epidural) และการทำคลอดแบบผ่าท้อง (Caesarean sections)

แผนกกระดูกและข้อ (Orthopedics) บำบัดรักษาปัญหาที่กระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูก (Musculoskeletal system) ซึ่งได้แก่ กล้ามเนื้อ (Muscle) ข้อต่อ (Joint) กระดูก (Bone) เส้นเอ็นกระดูก (Ligament) กระดูก/ เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) และเส้นประสาท (Nerve) อาจมีการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

แพทย์และพยาบาลในแผนกนี้ดูแลทุกอย่างตั้งแต่การจัดกระดูกที่แตกหัก (Fracture) และผิดที่ (Dislocation) [เพราะอุบัติเหตุ] ให้เข้าที่ไปจนถึงการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหต่างๆ อาทิ เส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) ที่ฉีกขาด (Trauma) การผ่าตัดใส่เข่าเทียม (Knee replacement) และสะโพกเทียม (Hip replacement)

ในสาขาย่อย ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านความผิดปรกติของกล้ามเนื้อและโครงกระดูก (Rheumatologist) และทีมงานที่ตรวจวินิจฉัยอาการและแนะนำการบำบัดรักษาจากแผนกกระดูกและข้อ หลังจากการส่งต่อ (Referral) จาก (หรือทำงานร่วมกันกับ) แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป (General practitioner : GP)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. G1. A to Z of hospital departments. http://www.netdoctor.co.uk/health-services-guide/hospital-departments.htm [2012, December 14]
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)