ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 15 : แผนกต่างๆ ในฝ่ายการแพทย์ (1)

นอกจากแผนกฉุกเฉิน (Emergency Department : ED) และศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง (Trauma Center : TC) แล้ว ฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลทั่วไปจะมีแผนกให้บริการมากมาย และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) หลากหลาย ซึ่งบางครั้งมีการทำงานร่วมกันข้ามแผนก แต่ละแผนกมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเป็นหัวหน้า พร้อมทีมงานในสาขานั้นๆ

แผนกอายุรกรรม (Internal medicine) ให้บริการตรวจ และรักษาโรคทั่วไป และเฉพาะสาชา อาทิ ต่อมไร้ท่อ (Endocrinology) โรคเลือด (Hematology) โรคติดเชื้อ (Infection) โรคพันธุกรรม (Genetics) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ระบบทางเดินหายใจ และปอด (Pulmonology) การระงับความปวด (Pain management) นอกจากนี้ ยังมีเวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine) ที่ให้คำปรึกษาทางสุขภาพป้องกัน รวมทั้งการฉีดวัคซีนและยาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

แผนกหูคอจมูก (Otolaryngology) ดูแลปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับโรคทั่วไป ของหู คอ จมูก (Ear, Nose & Throat : ENT) รวมถึง ก้อนบวมที่คอ (Neck lump) มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ ท่อน้ำตา (Tear duct) รอยบาดแผล (Lesion) ที่ใบหน้า ความผิดปรกติของความสมดุล [ของน้ำในหู] และของการได้ยิน การนอนกรนและโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea) ภูมิแพ้ (Allergy) ของหู คอ และจมูก โรคของต่อมน้ำลาย (Salivary gland) และความผิดปรกติของเสียง

แผนกจักษุเวช (Ophthalmology) ให้บริการตรวจและรักษาดวงตาสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก รวมถึงการบำบัดรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Laser) การวัดสายตาประกอบแว่น (Optometry) การแก้ไขแกนสายตา (Orthoptics) อาทิ ตาเหล่หรือตาเข (Squints) บริการผ่าตัดตาให้สวยงาม (Prosthetics) และการถ่ายภาพของดวงตา (Ophthalmic imaging) ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศเรา การถ่ายภาพดวงตาจะให้บริการโดยแผนกเอ็กซเรย์ (รังสีวินิจฉัย)

แผนกทันตกรรม (Dentistry) ตรวจและให้คำปรึกษาการทำความสะอาดฟัน (Prophylaxis) ขูดหินปูน (Scaling) ขัดฟัน (Polishing) อุดฟัน (Filling) และฟอกสีฟัน (Bleaching) สำหรับทันตกรรมทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการจัดฟัน (Orthodontics) การรักษารากฟันและดึงประสาทฟัน (Endodontics) การรักษาโรคเหงือกและขูดรากฟัน (Periodontics) การทำฟันปลอม (Denture) การทำสะพานฟันและการครอบฟัน (Prosthodontics) ศัลยกรรมช่องปาก (Oral surgery) (อาทิ ถอนฟันปรกติ ถอนฟันคุด ตัดติ่งเนื้อ และเจาะหนอง) และการฝังรากฟันเทียม (Dental implants)

แผนกผิวหนัง (Dermatology) ให้บริการการตรวจ ทดสอบ วินิจฉัยและรักษาทางด้านโรคผิวหนัง (Skin care) รวมทั้งอายุรกรรมผิวหนังทั่วไป อาทิโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) จุดด่างดำ (Pigmentation) และผมร่วง (Alopecia) การทำศัลยกรรมเลเซอร์ (Laser surgery) อาทิ การขจัดกระ ไฝ และหูด (Sunspots and warts) และการทำศัลยกรรมผิวหนังเพื่อความงาม (Esthetics) และ การผ่าตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ (Biopsy) ซึ่งรวมทั้งโรคผิวหนัง เส้นผม เล็บและมะเร็งผิวหนัง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. G1. A to Z of hospital departments. http://www.netdoctor.co.uk/health-services-guide/hospital-departments.htm [2012, December 14]
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)