ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 13 : แผนกฉุกเฉิน

ผู้ป่วยหลายคนเข้าสู่โรงพยาบาลโดยผ่านแผนกฉุกเฉิน (Emergency Department : ED) ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แผนกฉุกเฉินจะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่มีภัยคุกคามถึงชีวิต แต่ก็เป็นห้องดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น (Primary Care : ปฐมภูมิ) ที่อาจสร้างความรู้สึกน่ากังวัลใจ ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่บาดเจ็บ และอาจร้ายแรงด้วย

เนื่องจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ที่มีระดับแตกต่างกัน แผนกฉุกเฉินจึงต้องอาศัยกลไกตรวจอาการเบื้องต้น (Triage) เพื่อกำหนดว่า จะดูแลผู้ป่วยเมื่อไร ผู้ป่วยที่มีภัยคุกคามถึงชีวิต จะได้รับการดูแลก่อนผู้อื่น ต้นร่าง (Protocol) ของการตรวจอาการเบื้องต้นดังกล่าว เป็นนโยบายจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มิใช่บนพื้นฐานของการโอดครวญของผู้ป่วย

การมองจากรูปการณ์ภายนอก มักสร้างความลำบากใจให้ผู้ปฏิบัติงานในแผนกฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ไม่มีภัยคุกคามถึงชีวิต แต่ต้องรอคอยการตรวจอาการเบื้องต้นอยู่นาน มักไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ป่วยอื่นที่อาจมาถึงโรงพยาบาลทีหลัง กลับได้รับการตรวจอาการเบื้องต้นก่อน จนบางรายถึงกับเอะอะโวยวายใส่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินลงทะเบียนแล้ว จะผ่านการตรวจอาการเบื้องต้นโดยพยาบาล ผู้บันทึกการประเมินทางกายภาพ ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติทางการแพทย์ (Medical History) การแพ้ (Allergy) การกินยา (Medication) ความเจ็บป่วยเรื้อรัง (Chronic illness) ปัญหาที่ประสบ ระดับความเจ็บปวด และสถานะการตั้งครรภ์ กรณีสตรีอุ้มท้อง

ขั้นแรกของการตรวจวิเคราะห์ มักต้องมีการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ หรืออาจต้องมีการถ่ายเอ็กซเรย์ ทำอุลตราซาวด์ (Sonogram) ฯลฯ แต่ไม่มีการเจาะเข้าร่างกาย (Non-invasive) จึงไม่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็นยินยอม แต่หัตถการบางอย่างต้องมีอุปกรณ์เจาะเข้าร่างกาย (Invasive procedure) จึงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยก่อน

โรงพยาบาลหลายแห่งมักให้ผู้ป่วยเซ็นยินยอม ตั้งแต่ช่วงลงทะเบียน หรือรับเข้าแผนกฉุกเฉิน แพทย์จะเป็นผู้สั่งให้มีการตรวจวิเคราะห์พิเศษ หลังจากตรวจวินิจฉัยอาการผู้ป่วย และเป็นผู้ตัดสินใจหลังจากอ่านผลตรวจวิเคราะห์ ว่าจะให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือไม่ หรือส่งต่อไปสถานพยาบาลอื่นที่เหมาะสมกว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยให้เป็นผู้ป่วยใน (In-patient) ต้องรอคอยในแผนกฉุกเฉิน จนกว่าจะจัดแจงเตียงให้พร้อม

ส่วนผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจะได้รับการปฏิบัติเป็นผู้ป่วยนอก (Out-patient) แต่ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ต้องมีแผนการเยียวยารักษาหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว (Discharge Plan) แผนดังกล่าวจะรวมถึงผลการวินิจฉัย หัตถการที่ต้องติดตาม และคำสั่งแพทย์ (Prescription) ในรายละเอียดจะระบุสิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติระหว่างอยูที่บ้าน โดยเฉพาะหากอาการทรุดลง

โรงพยาบาลขนาดเล็ก อาจไม่มีอุปกรณ์ฉุกเฉินเพียงพอ หรืออาจไม่มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนเพียงพอ ก็จะพยายามบำบัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นให้อยู่ตัวก่อน (Stabilization) แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า และบุคลากรที่เชี่ยวชาญกว่า

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)