ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 10 : โรงพยาบาลในภาพรวม

โรงพยาบาลเป็นสถาบันดูแลสุขภาพ ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วย ด้วยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษ โรงพยาบาลส่วนมากรองรับผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยที่พักอยู่เป็นเวลายาวนาน และมักจะจุนเจือด้วยเงินทุนจากภาครัฐ จากองค์กรเพื่อหวังกำไร และไม่หวังกำไร จากบริษัทประกันสุขภาพ หรือ จากองค์กรเพื่อการกุศล รวมทั้งรับบริจาคโดยตรง

ในอีดตโรงพยาบาล อาศัยเงินทุนจากศาสนาหรือผู้มีจิตศรัทธา และดำเนินการโดยผู้อาสาสมัคร แต่ในปัจจุบัน โรงพยาบาล อาศัยเงินทุนที่เป็นระบบขึ้นมาก และดำเนินการโดยนักวิชาชีพต่างๆ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดนิกายทางศาสนา ก็ยังคงอยู่ทุกวันนี้ อาทิ ในกรุงเทพฯ ก็มี โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลมิชชั่น โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ และโรงพยาบาลคามิลเลียน แต่ในอัตราส่วนจำนวนที่ลดลงโดยภาพรวม

โรงพยาบาลทั่วโลกมีประมาณ 17,000 แห่ง ผู้ป่วยบางคนไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวิเคราะห์ การบำบัด หรือการรักษา แล้วกลับบ้านโดยมิได้ค้างคืน เรียกว่า ผู้ป่วยนอก (Outpatient) ผู้ป่วยบางคนเข้าโรงพยาบาลแล้วค้างคืน เป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เรียกว่า ผู้ป่วยใน (Inpatient)

ประเภทของโรงพยาบาลมักแยกตามความสามารถของการรับผู้ป่วยใน [จำนวนเตียง] ที่คุ้นเคยกันมากจะเป็น โรงพยาบาลทั่วไป (General hospital) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีขีดความสามารถที่จะดูแลโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด และปรกติจะมีแผนกฉุกเฉิน (Emergency department : ED) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพอย่างปัจจุบันทันด่วน ในเมืองใหญ่ๆ มักมีจำนวนโรงพยาบาลทั่วไป หลายแหล่งหลายขนาด พร้อมบริการรถฉุกเฉิน (Ambulance) ด้วย

ระดับรองลงไปจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามท้องถิ่น [อำเภอ ] ต่างๆ ที่มีจำนวนเตียงพอสมควร อาจมีแผนกดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive care) และระยะยาว (Long-term care) รวมทั้งความเชี่ยวชาญบางแขนงสาขา อาทิ การผ่าตัด (Surgery) การทำคลอด (Childbirth) ห้องปฏิบัตการตรวจวิเคราะห์ (Laboratory)

นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลเฉพาะทาง อาทิ โรงพยาบาลเด็ก (Children's Hospital) โรงพยาบาลหัวใจ (Heart Hospital) [ซึ่งอยู่ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ] สถานบันมะเร็ง (Cancer Institute) สถาบันโรคทรวงอก (Chest Institute) สถาบันโรคผิวหนัง (Skin Institute) โรงพยาบาลจิตเวช (เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญาและโรงพยาบาลสถาบัน ราชานุกูลของรัฐ และโรงพยาบาลมนารมย์ของเอกชน)

โรงพยาบาลสอนนักศึกษาแพทย์ (Teaching hospital) เป็นการรวมโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วย กับโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล สังกัดคณะแพทย์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจรวมถึงโรงพยาบาล สังกัดสถาบันวิจัย อาทิ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษา สังกัดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

ส่วนคลินิก เป็นสถานพยาบาลที่เล็กกว่าโรงพยาบาล อาจเป็นของรัฐหรือเอกชน ที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์เฉพาะทางและให้บริการในรูปแบบของผู้ป่วยนอก หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล อาทิ การผ่าตัดเล็ก (Day surgery) ทันตกรรม (Dental clinic) เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation clinic) และการล้างไต (Hemolysis clinic)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Hospital. http://en.wikipedia.org/wiki/Hospital
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)