บูเดโซไนด์ (Budesonide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาบูเดโซไนด์ (Budesonide)ชื่อการค้าคือ “ยา Pulmicort” ซึ่งคือยาในกลุ่ม Corticosteroid ประโยชน์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์จะเป็นการรักษาโรคหืด (Asthma), โรคโครห์น (Crohn’s disease), และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis),

กลไกการออกฤทธิ์โดยรวมของตัวยานี้คือ ยับยั้งการรวมตัวของกลุ่มเม็ดเลือดขาวรวมถึงป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการอักเสบ

ผลข้างเคียงที่พึงระวังของยาบูเดโซไนด์ คือ อาการหายใจไม่ออก อึดอัด หรือเกิดการบวมของใบหน้า ซึ่ง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นชนิด ยารับประทาน, ยาสเปรย์จมูก, ยาพ่นคอ, รวมถึงยาโฟมที่ใช้ฉีดเข้าทวารหนัก

จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของบูเดโซไนด์พบว่า เมื่อยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยาประมาณ 85 - 90% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครง สร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3.6 ชั่วโมงในการกำจัด ยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ องค์การอนามัยโลกได้ระบุ ให้บูเดโซไนด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาบูเดโซไนด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับยา Formoterol (ยารักษาโรคหืด และ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี) เราสามารถพบเห็นการใช้ยาบูเดโซไนด์ตามสถานพยาบาลและมีจำหน่าย ตามร้านขายยาใหญ่ๆโดยทั่วไป

ก่อนการเลือกใช้ยานี้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคัดกรองและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา นี้เท่านั้น อีกทั้งต้องเคร่งครัดต่อวิธีการใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ

บูเดโซไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

บูเดโซไนด์

ยาบูเดโซไนด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการโรคหืด (Asthma)
  • รักษาโรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
  • รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หูคอจมูก

บูเดโซไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบูเดโซไนด์คือ ตัวยาจะเข้าควบคุมอัตราการสังเคราะห์โปรตีน และเกิดกระบวนการกดการเคลื่อนย้ายหรือการมาชุมนุมของเม็ดเลือดขาวและเซลล์สร้างเส้นใย (Fibro blasts) ในบริเวณที่มีการอักเสบ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงการซึมผ่านของสารเคมีตามผนังหลอดเลือดฝอย ร่วมกับเพิ่มความคงตัวของ Lysosome (สารที่มีเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ในการกำจัดเชื้อโรค) ที่ อยู่ภายในเซลล์ จากกลไกที่กล่าวมาส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

บูเดโซไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบูเดโซไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาพ่น ขนาดความแรง 100 และ 200 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
  • ยาพ่นที่ผสมร่วมกับยา Formoterol เช่น
    • Budesonide 80 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate dihydrate 4.5 ไมโครกรัม,
    • Budesonide 160 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate dihydrate 4.5 ไมโครกรัม,
    • Budesonide 320 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate 9 ไมโครกรัม
  • ยาสเปรย์ทางจมูก ขนาดความแรง 50 และ 64 ไมโครกรัม/การสเปรย์ 1 ครั้ง
  • ยาชนิด Respules (ชนิดสูดดมผ่านเครื่อง) ขนาด 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร (ต้องใช้คู่กับเครื่อง Jet-nebulizer)
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 3 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ ขนาด 9 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาโฟมที่ฉีดเข้าทางทวารหนัก ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/การฉีด 1 ครั้ง

บูเดโซไนด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ขนาดยาบูเดโซไนด์จะขึ้นกับชนิดของแต่ละโรคโดยมีแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้สั่งขนาดยา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการใช้ยาในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และ ในโรคหืด เช่น

ก. สำหรับลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 9 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้าเป็นเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรับประ ทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร โดยห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนกลืน ให้รับประทานยาทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำ ตามอย่างเพียงพอ
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดใช้ยานี้ของเด็กยังไม่มีการศึกษาและจัดทำอย่างเป็นทางการ

ข. รักษาอาการโรคหืด (Asthma): เช่น

อนึ่ง:ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ถึงวิธีการพ่นยาโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรให้ถูกต้อง และสามารถศึกษาการใช้ยานี้ได้จากคู่มือที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

  • ผู้ใหญ่: พ่นยาขนาด 200 - 400 ไมโครกรัม (0.2 - 0.4 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: พ่นยาขนาด 200 ไมโครกรัม (0.2 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบูเดโซไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบูเดโซไนด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบูเดโซไนด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

บูเดโซไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบูเดโซไนด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ทำให้ผิวหนังมีการสูญเสียคอลลาเจน
  • อาจเกิดรอยด่างที่ผิวหนัง
  • ผิวหนังที่สัมผัสยาเกิดระคายเคือง
  • เกิดแผลในโพรงจมูกจนกระทั่งมีเลือดออกร่วมด้วย
  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
  • คลื่นไส้เล็กน้อย
  • ไอ
  • ปากคอแห้ง
  • เจ็บคอ_คออักเสบ
  • ปวดหัว
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • อาจทำให้เกิดโรคเชื้อราในโพรงจมูก และ/หรือ เชื้อราช่องปาก

มีข้อควรระวังการใช้บูเดโซไนด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้บูเดโซไนด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามซื้อยานี้มาใช้ด้วยตนเอง
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับน้ำผลไม้ต่างๆ ควรรับประทานยานี้พร้อมน้ำดื่มธรรมดา ที่สะอาด
  • หลังใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์อาจปรับแนวทางการรักษาใหม่
  • ยานี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลงไป ผู้ใช้ยานี้จึงควรหลีก เลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อต่างๆเช่น ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส โรคหัด
  • หากมีอาการผื่นคันขึ้นตามผิวหนังหรือมีอาการคล้ายกับแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้ว รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล พร้อมนำยานี้ไปให้แพทย์ดูด้วย
  • การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานๆสามารถทำให้เกิดภาวะมวลกระดูกบาง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระดูกพรุน กระดูกบาง) และทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักได้ง่าย ระยะเวลาการใช้ยานี้จึงควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ชนิดพ่นที่ภาชนะบรรจุยาปริแตกหรือชำรุด
  • เขย่าขวดยานี้ทุกครั้งก่อนการพ่นยา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคงูสวัด วัณโรค ผู้ป่วยโรคเชื้อรา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบูเดโซไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควร ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บูเดโซไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบูเดโซไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาบูเดโซไนด์ในขณะที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เพราะจะส่งผลให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาบูเดโซไนด์ร่วมกับการดื่มน้ำผลไม้เช่น Grapefruit juice ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาบูเดโซไนด์เพิ่มขึ้นจนอาจเสี่ยงกับผลข้างเคียงที่อาจติดตามมา
  • การใช้ยาบูเดโซไนด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Ibuprofen อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เลือดออกง่าย วิงเวียน อุจจาระเป็นสีคล้ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบูเดโซไนด์ ร่วมกับ ยาต้านไวรัสบางตัว เช่นยา Zidovudine ด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ร่วมกับเกิดความเสียหายต่อไตและเป็นเหตุให้ปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม

ควรเก็บรักษาบูเดโซไนด์อย่างไร?

ควรเก็บยาบูเดโซไนด์:

  • เก็บยาที่ช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

บูเดโซไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบูเดโซไนด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aeronide 200 (แอโรไนด์ 200) Aerocare
Besonin Aqua (เบโซนิน อควา) Synmosa
Budecort CFC-Free (บูเดคอร์ท ซีเอฟซี-ฟรี) Cipla
Budesonide Inhalation CFC-Free (บูเดโซไนด์ อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี) Jewim
BudeSpray (บูเดสเปรย์) Medispray
Budiair (บูดิแอร์) Chiesi
Bunase Nasal Spray (บูเนส นาซอล สเปรย์) Okasa Pharma
Bunase Respule (บูเนส เรสพิล) Okasa Pharma
Entocort EC (เอนโทคอร์ท อีซี) ASTRAZENECA
Giona Easyhaler (จีโอนา อิซี่ฮาเลอร์) Orion
Obucort (โอบูคอร์ท) Otsuka
Pulmicort (พูลมิคอร์ท) AstraZeneca
Pulmicort Turbuhaler (พูลมิคอร์ท เทอร์บูแฮเลอร์) AstraZeneca
Rhinocort Aqua (ไรท์โนคอร์ท อควา) AstraZeneca
Symbicort/Symbicort Forte (ซิมบิคอร์ท/ซิมบิคอร์ท ฟอร์ท) AstraZeneca
Uceris (ยูเซอริส) SANTARUS INC

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Budesonide [2021,May15]
  2. https://www.drugs.com/mtm/budesonide.html [2021,May15]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/symbicort-symbicort%20forte-symbicort%20rapihaler?type=full [2021,May15]
  4. https://www.drugs.com/mtm/entocort-ec.html [2021,May15]
  5. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/budesonide-oral-route/description/drg-20073233 [2021,May15]
  6. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/budesonide-inhalation-route/precautions/drg-20071233 [2021,May15]
  7. https://www.mims.com/thailand/drug/info/budesonide%20aerosol%20cfc-free [2021,May15]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=budesonide&page=0 [2021,May15]
  9. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/budesonide?mtype=generic [2021,May15]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/budesonide-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May15]