บุหรี่คือพิษร้าย ตายผ่อนส่งลูกเดียว

อนุสนธิ จากข่าวเมื่อวานนี้ นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศซึ่งยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองแตกมากกว่าคนปกติ 2 เท่า รองจากความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ตามลำดับ

บุหรี่ (Cigarette) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกม้วนห่อด้วยกระดาษ มีใบยาสูบบดบรรจุภายในห่อกระดาษ ปลายด้านหนึ่งเป็นปลายเปิดสำหรับจุดไฟ และอีกด้านหนึ่งจะมีตัวกรอง ไว้สำหรับใช้ปากสูดควัน บุหรี่ต่างจากซิการ์ (Cigar) ตรงที่บุหรี่นั้นมีขนาดเล็กว่า ส่วนซิการ์โดยปรกติจะใช้ใบยาสูบทั้งใบห่อ

ส่วนไส้บุหรี่นั้น ทำจากใบยาสูบที่นำไปตากแห้ง แล้วผ่านกระบวนการทางเคมี โดยมีการเพิ่มสารอื่นๆ ในควันบุหรี่เองก็ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งมีสารพิษเป็นจำนวนมาก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (Mutagenic) รวมทั้งสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ด้วย

ยาสูบต่าง ๆ โดยเฉพาะบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอด เนื่องจากประมาณ 80 – 90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แล้วยังอาจลามไปยัง โรคปอดอื่น ๆ อาทิ โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

สตรีมีครรภ์ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการแท้งลูก และเด็กที่คลอดออกมา มักจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเด็กปรกติทั่วไป การสูบบุหรี่ยังเพิ่มโอกาสของอาการหัวใจล้ม และโรคมะเร็งชนิดอื่นๆอีกด้วย นอกจากนี้ ควันบุหรี่จะเพิ่มรอยเหี่ยวย่นบนผิวหนัง ดังนั้นผู้สูบบุหรี่อาจดูแก่กว่าวัยปรกติ

ภายในเนื้อบุหรี่ มีสารกระตุ้นประสาท (Stimulant) ชื่อนิโคตีน (Nicotine) มีผลให้เกิดการเสพติด (Addictive) และลดความอยากในอาหาร (Appetite suppressant) [กล่าวคือเบื่ออาหาร] อาจเป็นสารพิษ หากเด็กหรือสัตว์กินก้นบุหรี่เข้าไปโดยอุบัติเหตุ

เนื่องจากการสูบบุหรี่มีผลเพิ่มอัตราการสันดาปอาหาร (Metabolism) จึงอาจส่งผลให้ผู้สูบมีน้ำหนักลดลง [โดยปริยาย] แต่ผู้ที่เลิกการสูบบุหรี่มักจะทดแทนอาการอยากบุหรี่ ด้วยการกินของขบเคี้ยว [อาทิ ลูกอม หมากฝรั่ง และขนม] ซึ่งยังผลให้ประมาณ 67% ของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

โอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบควันนั้น มีประมาณ 11 – 17% หรือ 10 – 20 เท่าของคนที่ไม่สูบ ขึ้นกับลักษณะของการสูบ สารที่สูบ และความถี่ของการสูบ การสูดสารพิษและสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ อาทิ เรดอน (Radon) [ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซเฉื่อย (Radioactive noble gas) ได้จากการแยกสลายธาตุเรเดียม เรดอนเป็นก๊าซที่หนักที่สุดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ] และเรเดียม-226 เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็ง

ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2548 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เริ่มบังคับใช้กฎเกณฑ์ห้ามตั้งแสดงซองบุหรี่ตามร้านค้าปลีก เพราะถือเป็นการโฆษณาสินค้าบุหรี่ ณ จุดขาย แต่สามารถติดกระดาษขนาด A4 เขียนข้อความไว้ว่า "ที่นี่มีบุหรี่ขาย" หากร้านค้าปลีกใดละเมิด จะมีความผิดมาตรา 8 ของ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันสูง-ไขมันสูง เลี่ยงดื่มของมึนเมา เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000166810 [2012, January 8].
  2. บุหรี่ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000000138 [2012, January 8].