“บิ๊กอายส์” ทำพิษ ติดเชื้ออาจตาบอด (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

หลังจากได้รับแจ้งจาก รพ. พระนั่งเกล้า นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบจุดที่ผู้ป่วย ระบุว่าไปซื้อ บิ๊กอายส์ (Big eyes) และกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมี บิ๊กอายส์ที่ได้รับอนุญาตจากทาง อย. เพียง 2 – 3 ยี่ห้อเท่านั้น ซึ่งประชาชนสามารถโทรมาสอบถาม อย. ได้ที่เบอร์สายด่วน อย. โทร. 1556

หนึ่งในคุณสมบัติของเชื้อซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ การมีความไวต่อยาปฏิชีวนะที่ต่ำ นั่นคือ เชื้อนี้ มักดื้อต่อยาปฏิชีวนะและจะดื้อยาเพิ่มขึ้นหากการรักษานั้นไม่ได้ผล ดังนั้น การรักษาควรทำตามผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (Laboratory sensitivities) มากกว่าการให้ยาปฏิชีวนะที่บำบัดครอบคลุมทุกเชื้อ (Empiric therapy)

ซึ่งหากมีการให้ยาปฏิชีวนะที่บำบัดครอบคลุมทุกเชื้อ ควรทำการเพาะเชื้อจุลินทรีย์ (Cultures) และควรเลือกใช้ชนิดของยาปฏิชีวนะภายหลังจากที่ทราบผลการเพาะเชื้อแล้ว

ส่วนยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเชื้อซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า อาจรวมถึงยาในกลุ่ม Aminoglycosides (ยกเว้น Kanamycin) Quinolones (ยกเว้น Moxifloxacin) Cephalosporins (ยกเว้น Cefuroxime, ceftriaxone, cefotaxime) Antipseudomonal penicillins Ureidopenicillins Carbapenems (ยกเว้น Ertapenem) Polymyxins และ Monobactams ซึ่งยาปฏิชีวนะเหล่านี้ต้องใช้วิธีฉีดเข้าร่างกาย

เราสามารถป้องกันการติดเชื้อซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ได้โดยการมีสุขอนามัยที่ดี ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ทำความสะอาดและปกปิดบาดแผลให้เรียบร้อยด้วยผ้าพันแผล หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกบาดแผลหรือผ้าพันแผลของผู้อื่น
  • อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ใบมีดโกน เป็นต้น

กรณีที่ติดเชื้อซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ท่านสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้โดยการ

  • ปกปิดบาดแผลด้วยผ้าพันแผลที่แห้งและสะอาด และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์
  • รักษามือให้ความสะอาด และให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดล้างมือบ่อยๆ
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ใบมีดโกน เสื้อผ้า หรือสิ่งอื่นที่สัมผัสกับบาดแผล
  • พยายามรักษาสภาพแวดล้อมรอบตัวให้สะอาดด้วยการเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น พื้นโต๊ะ กลอนประตู สวิทช์ไฟ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. “บิ๊กอายส์” ทำพิษ! สาว 18 ซื้อใส่เองจนติดเชื้อเกือบตาบอด http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000083641 [2012, July 18].
  2. Pseudomonas aeruginosa. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudomonas_aeruginosa [2012, July 18].
  3. Pseudomonas Infection. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/pseudomonas-infection-topic-overview [2012, July 18].