“บิ๊กอายส์” ทำพิษ ติดเชื้ออาจตาบอด (ตอนที่ 2)

นพ. ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ. พระนั่งเกล้า กล่าวอีกว่า คอนแทคเลนส์ตามมาตรฐานทางการแพทย์ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ 13.5 – 14.5 มิลลิเมตร ส่วนบิ๊กอายส์จะมีขนาดตั้งแต่ 15 – 19 มิลลิเมตร ซึ่งใหญ่กว่าใส่แล้วจะทำให้ดวงตาเกิดอาการคับ แน่น และและไม่สบายตา จนต้องขยี้ตาบ่อยๆ ส่งผลให้เกิดแผลถลอกที่แก้วตาดำ และเชื้อโรคอาจเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่แก้วตาดำทำให้เกิดตาบอดได้

สำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งสามารถแบ่งออกได้เป็น

  • คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งแบบธรรมดา (Conventional hard lenses) ทำจากพลาสติกแข็งโพลิเมทิลเมทาไครเลต (Polymethyl methacrylate : PMMA) ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นไปตามขนาดลูกตา คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ใช้แก้ไขปัญหาสายตาได้ดีและใช้ได้นาน แต่เป็นคอนแทคเลนส์ที่ใส่ไม่สบาย เนื่องจากคอนแทคเลนส์ชนิดนี้ลดปริมาณออกซิเจนที่แก้วตา ดังนั้นผู้ใส่มักจะมีความเสี่ยงจากการใส่นานและปัญหาอื่น
  • คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งแบบอากาศซึมผ่านได้ (Rigid gas-permeable lenses : RGP) ทำจากซิลิโคนหรือพลาสติกฟลูโรโพลีเมอร์ (Silicone or fluoropolymers) เหมาะสำหรับผู้มีสายตาเอียง เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าแต่ใส่สบายกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งแบบธรรมดา คอนแทคเลนส์ชนิดนี้สามารถใส่ได้ข้ามคืนหรือสูงสุด 7 วัน แต่จักษุแพทย์มักไม่แนะนำให้ใส่นานต่อเนื่องเพราะอาจมีความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีคอนแทคเลนส์ชนิดใส่เพื่อความสวยงาม (Cosmetic or decorative lenses) ซึ่งใช้เปลี่ยนสีลูกตา และทำให้ดูตาโตขึ้น คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ ควรได้รับการแนะนำจากจักษุแพทย์ และควรใช้หลังจากที่ได้ทำการตรวจตาแล้ว การซื้อคอนแทคเลนส์ชนิดนี้ใช้เองอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตา ทำให้ตาติดเชื้อ และสูญเสียการมองเห็นได้

คอนแทคเลนส์ที่ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อไม่ถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ตา คอนแทคเลนส์ทุกชนิดที่ถอดจากตาต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนใส่ใหม่อีกครั้ง การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์รวมถึงการทำความสะอาดตลับใส่เลนส์ (Case) เพราะมันเป็นแหล่งติดเชื้อที่ดี ควรล้างตลับใส่เลนส์ด้วยน้ำยาทำความสะอาดเลนส์ (Contact lens solution) แล้วปล่อยไว้ให้แห้ง

คอนแทคเลนส์ที่เก่าหรือไม่พอดีกับลูกตา อาจครูดกับลูกตาแล้วทำให้เกิดเส้นเลือดในแก้วตา เนื่องจากการใช้เลนส์นานอาจทำให้เลนส์ผิดรูปไปและแก้วตาเปลี่ยนรูป ดังนั้นควรมีการตรวจตาเพื่อดูความพอดีของขนาดเลนส์และขนาดสายตา (Power) เป็นระยะๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพตาและการมองเห็น

ยาหยอดตาทุกชนิดสามารถใช้ได้กับคอนแทคเลนส์ทุกประเภท แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการหยอดตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ ยกเว้นน้ำตาเทียม (Wetting drops) ที่จักษุแพทย์แนะนำ

ความเสี่ยงของการติดเชื้อแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของเลนส์ที่ใช้ คอนแทคเลนส์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นคอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัยที่สุดในแง่ของการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญบางท่านมักแนะนำว่าถ้ามีการใช้คอนแทคเลนส์เป็นครั้งคราว ควรใช้คอนแทคเลนส์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. “บิ๊กอายส์” ทำพิษ! สาว 18 ซื้อใส่เองจนติดเชื้อเกือบตาบอด http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000083641 [2012, July 15].
  2. Lenses for Vision Correction. http://www.geteyesmart.org/eyesmart/glasses-contacts-lasik/contact-lens.cfm [2012, July 15].
  3. Contact Lens Care. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/contact-lens-care-topic-overview [2012, July 15].