บิสฟอสโฟเนท (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

บิสฟอสโฟเนท

นอกจากนี้ การศึกษา ยังพบว่า ยาบิสฟอสโฟเนท ยังอาจใช้รักษาในบางกรณี เช่น คนที่เป็นมะเร็งไขกระดูกชนิดมัยอีโลมา (Myeloma) คนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเข้ากระดูก( Secondary breast cancer) และคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่แพร่กระจายเข้ากระดูก( Secondary prostate cancer)

ผลข้างเคียงจากการกินยาบิสฟอสโฟเนทโดยทั่วไป ได้แก่ เป็นโรคกรดไหลย้อน (Heartburn) ดังนั้นผู้กินยาบิสฟอสโฟเนทควรปฏิบัติตามวิธีกินยาอย่างเคร่งครัด ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดยาบิสฟอสโฟเนทเข้าทางเส้นเลือด ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • ผายลม (Passing gas)
  • ปวดข้อและกล้ามเนื้อ
  • ปวดกระดูก

เพื่อให้ได้ผลดีและลดความเสี่ยงจากการระคายเคืองต่อหลอดอาหาร การกินยาบิสฟอสโฟเนทควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรกินยาในตอนเช้าพร้อมน้ำ 1 แก้วเต็ม อย่างน้อย 30 นาทีก่อนอาหาร เครื่องดื่ม หรือกินยาอื่น
  • หลังการกินยาห้ามล้มตัวลงนอน แต่ควรนั่งหรือยืนอย่างน้อย 30 นาทีหลังการกินยา ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะกรดไหลย้อน
  • หากลืมกินยา ให้ข้ามการกินยาในวันที่ลืมและเริ่มกินยาในเช้าวันรุ่งขึ้น

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าควรใช้ยาบิสฟอสโฟเนทนานแค่ไหน แต่นักวิจัยแนะนำว่า การใช้ยานาน 3-5 ปี ก็น่าจะเพียงพอต่อกรณีที่มีความเสี่ยงในการกระดูกหักน้อย

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ใช้ยาบิสฟอสโฟเนทกินอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดีด้วย แต่เนื่องจากอาหารเสริมแคลเซียมอาจขัดขวางการดูดซึมของยาบิสฟอสโฟเนท ดังนั้นจึงควรกินให้ห่างกันอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีปัญหาเรื่องการกลืน อาจรู้สึกเจ็บเมื่อกลืน หรือรู้สึกเหมือนมีก้อนหรือปวดในคอ
  • มีอาการเจ็บบริเวณต้นขา (Thigh) หรือบริเวณขาหนีบ (Groin) เพราะการใช้ยาบิสฟอสโฟเนทเป็นระยะเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการหักของกระดูกต้นขา
  • กรณีที่มีการรักษาฟัน ผ่าฟัน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะการตายของกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw)
  • อนึ่ง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Food and Drug Administration = FDA) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า การกินยาบิสฟอสโฟเนทจะมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจน เพราะผลการศึกษายังขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือ มีทั้งแสดงผลว่าเพิ่มความเสี่ยงและไม่เพิ่มความเสี่ยง

    แหล่งข้อมูล

    1. Bisphosphonates for Osteoporosis. http://www.webmd.com/osteoporosis/bisphosphonates-for-osteoporosis[2015, October 12].
    2. What bisphosphonates are. http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancers-in-general/treatment/bisphosphonate/what-bisphosphonates-are[2015, October 12].
    3. Bisphosphonates for Osteoporosis and Bone Protection. http://www.breastcancer.org/tips/bone_health/keep_bones_strong/bisphosphonates[2015, October 12].
    4. Bisphosphonates. http://www.arthritisresearchuk.org/arthritis-information/drugs/drugs-for-osteoporosis/what-drugs-are-used-to-treat-osteoporosis/bisphosphonates.aspx [2015, October 12].
    5. DA Drug Safety Communication: Ongoing safety review of oral osteoporosis drugs (bisphosphonates) and potential increased risk of esophageal cancer. http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm263320.htm[2015, October 12].