บาร์นิดิปีน (Barnidipine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบาร์นิดิปีน(Barnidipine หรือ Barnidipine hydrochloride หรือ Barnidipine HCl) หรืออาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ เมพิโรดิปีน (Mepirodipine) เป็นยากลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์(Calcium channel blocker) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง และบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาบาร์นิดิปีนเป็นยาชนิดรับประทานที่มีการควบคุมการปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ ทำให้ระดับยานี้ในกระแสเลือดมีปริมาณคงที่สม่ำเสมอ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าการรับประทานยานี้ 10–20 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถควบคุมอาการความดันโลหิตสูงให้เป็นไปอย่างปกติ

ตัวยาบาร์นิดิปีนจะมีการออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงหัวใจรวมถึงหลอดเลือดที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการขยายตัวที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการลดความดันโลหิตตามมา จากผลการวิจัยพบว่ายาบาร์นิดิปีนมีประสิทธิภาพเทียบเท่าใกล้เคียงกับยาในกลุ่มเดียวกัน เช่นยา Amlodipine และ Nitrendipine หรือยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่นๆ อย่าเช่นยา Atenolol และ Enalapril ตลอดจนยาขับปัสสาวะประเภท HCTZ ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

ตัวยาบาร์นิดิปีนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้เช่นเดียวกับยาลดความดันโลหิตชนิดอื่น เช่น ปวดศีรษะ ใบหน้าแดง มือ-เท้าบวม แต่อาการข้างเคียงเหล่านี้มักเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น

มีข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเมื่อต้องใช้ยาบาร์นิดิปีน เช่น

  • การรับประทานยาบาร์นิดิปีนจะเริ่มต้นที่ขนาดต่ำๆก่อน เช่น 10 มิลลิกรัม/วัน ต่อจากนั้น แพทย์อาจจะทำการปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยดูจากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ ซึ่งประสิทธิผลสูงสุดในการลดความดันโลหิตจากยานี้ อาจต้องใช้เวลา 3–6 สัปดาห์ เป็นอย่างต่ำ
  • ยานี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับผู้ป่วยเด็ก และทางคลินิกไม่แนะนำการใช้ ยาบาร์นิดิปีนกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต คงต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง ด้วยยาบาร์นิดิปีนจะถูกขับทิ้งออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานได้อย่าง เหมาะสมที่สุด
  • ด้วยกลไกการทำลายยานี้ยังต้องผ่านขบวนการที่ตับ สำหรับผู้ป่วยโรคตับถือเป็นข้อห้ามใช้ยาบาร์นิดิปีน
  • เพื่อรักษาความดันโลหิตสูงให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามหยุดรับประทานยานี้เอง หรือปรับขนาดรับประทานยานี้ เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด และส่งผลให้มีอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงตามมา
  • ผู้ที่มีสภาพหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติ อาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาบาร์นิดิปีนได้ ดังนั้นทุกครั้งที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จะต้องแจ้งให้แพทย์พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งเสมอว่าตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น
  • การใช้ยาบาร์นิดิปีนสามารถใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวหรืออาจใช้ร่วมกับยารักษา ความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่นๆ เช่น Beta-blockers และ ACE inhibitors เพื่อเป็นการ ป้องกันการมีภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) การใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยาบาร์นิดิปีนจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยไปซื้อหายาลดความดันโลหิตชนิดอื่นมารับประทานร่วมกับยาบาร์นิดิปีนโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านยาบาร์นิดิปีนไปสู่ทารก
  • *กรณีเกิดข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการ ความดัน โลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว ง่วงนอนมาก รู้สึกสับสน คลื่นไส้ อาเจียน หากพบเห็นอาการเหล่านี้หรือเมื่อทราบว่าผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำตัว ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ปัจจุบัน เราจะพบเห็นการใช้ยาบาร์นิดิปีนในแถบยุโรปและบางประเทศของทวีปเอเชีย และยังไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ในประเทศไทย อาจเป็นเพราะบ้านเรายังมียาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่นๆที่ใช้เป็นทางเลือกอยู่หลายรายการ ประกอบกับราคาไม่สูงจนเกินไป จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาลดความดันโลหิตสูงเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

บาร์นิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บาร์นิดิปีน

ยาบาร์นิดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง

บาร์นิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีนเป็นยาประเภท Calcium channel blocker จะออกฤทธิ์โดยลดการนำเข้าของประจุไฟฟ้าของแคลเซียมในกล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เลือดมีการไหลเวียนได้สะดวกขึ้น จนเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลง

บาร์นิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่มีการปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ(Modified release) ซึ่งประกอบด้วยตัวยา Barnidipine ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/แคปซูล

บาร์นิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 10–20 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้งก่อนหรือหาร โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้

อนึ่ง:

  • ห้ามแกะแคปซูลยานี้มาละลายผงยากับน้ำแล้วรับประทานเพราะจะทำให้กลไกการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายเสียไป จนส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมความดันโลหิต
  • แพทย์จะปรับขนาดยานี้ลดลงเมื่อต้องใช้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบาร์นิดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาบาร์นิดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบาร์นิดิปีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาเดิมของแต่ละวัน การหยุดรับประทานยานี้โดยทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

บาร์นิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร ภาวะเหงือกงอกเกิน (Gingival hyperplasia)
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกเฉื่อยชา มีไข้ ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นช้า ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อตับ เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อตา เช่น ปวดตา ตามืด/ตามองไม่เห็นชั่วขณะ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ซึม

มีข้อควรระวังการใช้บาร์นิดิปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบาร์นิดิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกอันเนื่องมาจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่เพิ่งเกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis) ด้วยยาบาร์นิดิปีนสามารถเพิ่มความรุนแรงของอาการ โรคดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้สูงและรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน
  • ระหว่างใช้ยานี้ต้องหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตว่าเป็นปกติหรือไม่ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หากเกิดความดันโลหิตต่ำหรือสูง ผู้ป่วยควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบาร์นิดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บาร์นิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบาร์นิดิปีนร่วมกับยาAtazanavir เพราะจะทำให้ระดับยาบาร์นิดิปีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยาบาร์นิดิปีนสูงขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้ยาบาร์นิดิปีนร่วมกับยา Aldesleukin, Alfuzosin ด้วยเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบาร์นิดิปีนร่วมกับยา Imipramine, Isocarboxazid, Isoconazole ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงจากยาเหล่านี้เมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาบาร์นิดิปีนร่วมกับยาที่มี Calcium เป็นองค์ประกอบ เช่น Calcium carbonate เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาบาร์นิดิปีนด้อยลง

ควรเก็บรักษาบาร์นิดิปีนอย่างไร?

ยาบาร์นิดิปีน มีระยะเวลาการใช้ไม่เกิน 2 ปี นับหลังจากวันผลิต ควร เก็บยานี้ในช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

บาร์นิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบาร์นิดิปีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cypress (ไซเพรส)Yamanouchi
Libradin (ลิบราดิน)Santa-Farma
Vasexten (วาเซกซ์เทน)Astellas Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/barnidipine/?type=brief&mtype=generic[2017,Oct14]
  2. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/104713-75-9#section=Top[2017,Oct14]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09227[2017,Oct14]
  4. http://mri.cts-mrp.eu/download/NL_H_0199_002_FinalPI_2of3.pdf[2017,Oct14]
  5. https://www.google.co.th/search?q=Cyress+(barnidipine)+image&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwiHmN_jwrDWAhUIPI8KHQ65D2EQ7AkIPw&biw=1920&bih=901#imgrc=cmIeYrCOd9yqUM:[2017,Oct14]
  6. https://www.drugs.com/international/barnidipine.html[2017,Oct14]