บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 9 : ยอมปวดหัวดีกว่าหยุดงาน

บอกเล่าเก้าสิบ

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้ป่วยอย่างมาก และบางครั้งก็ทำให้หมอผู้รักษาปวดหัวตามมาด้วย เพราะหาสาเหตุไม่พบหรือไม่ก็รักษาให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดหัวไม่ได้ อาการปวดหัวที่พบบ่อยมีสาเหตุจากปวดศีรษะไมเกรนและ/หรือ ความเครียดโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ยาที่ใช้รักษาบางครั้งก็มีผลเสียทำให้ง่วงนอน จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่ยอมทานยาที่แพทย์จัดให้ อาการจึงไม่ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น

“เป็นอย่างไรบ้างครับ อาการปวดศีรษะดีขึ้นบ้างหรือไม่” ผมสอบถามอาการปวดศีรษะจากผู้ป่วยท่านหนึ่ง มีอาชีพเป็นครูสอนนักเรียนอนุบาล ผู้ป่วยมีอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรง เรื้อรังจนเกิดภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาเกินขนาด (medication overuse headache) ผมพยายามให้การรักษามาหลายสัปดาห์ก็ไม่ดีขึ้น ใช้สูตรยาต่างๆ นาๆ แต่ก็ไม่ได้ผลเลย สุดท้ายผู้ป่วยยอมบอกเหตุผลของการรักษาไม่ได้ผล คือ ผู้ป่วยไม่ทานยาเลย “คุณหมอค่ะ อย่าโกรธหนูนะ หนูไม่ได้ทานยาตามที่หมอสั่งมาเลย เพราะมันง่วงมากค่ะ ถ้าหนูทานยาที่หมอให้ หนูจะไปทำงานไม่ได้เลย ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีการเยี่ยมประเมินโรงเรียนของหนูค่ะ หนูต้องเตรียมงานเอกสารเยอะมาก เลยตัดสินใจไม่ทานยาใดๆ ที่หมอให้เลย พอมีอาการปวดหนูก็ไปฉีดยาแก้ปวดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน”

ผมถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ๆ แต่ก็เข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของผู้ป่วย เพราะคนเรานั้นก็อาจมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องตัดสินใจเลือกเองในสิ่งที่ตนเองคิดว่าสำคัญที่สุดก่อนเสมอ ผมจึงค่อยๆ ตั้งสติและเริ่มเจรจาต่อรองกับผู้ป่วยใหม่ “เอาอย่างนี้ ช่วงเวลาไหนที่น้องพร้อมจะรักษา ก็บอกผม ผมจะเขียนใบรับรองแพทย์ ให้น้องหยุดงานได้ เพื่อที่จะรักษากันให้ดีขึ้น จะได้กลับมาใช้ชีวิตที่ดี ทำงานได้ตามปกติ ที่ผ่านมาก็ผ่านไปครับ ไม่ต้องกังวลใจกับมัน ผมต้องขอบคุณน้องที่บอกความจริง ผมจะได้ปรับการรักษาให้มันเหมาะสมกับน้องมากยิ่งขึ้น”

ผู้ป่วยขอบคุณผม แล้วบอกว่าช่วงนี้พร้อมแล้ว โรงเรียนปิดเทอมไม่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบอะไรแล้ว เมื่อทราบว่าผู้ป่วยพร้อมผมก็เริ่มปรับสูตรยาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น นัดติดตามการรักษาทุกสัปดาห์ประมาณ 4 ครั้ง ผู้ป่วยก็หายดีเป็นปกติ

ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ คือ บางครั้งการรักษาโรคเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราต้องทราบด้วยว่าผู้ป่วยมีภาระหน้าที่การงานเป็นอย่างไร ผลแทรกซ้อนของการรักษาที่เราให้นั้นมีหรือไม่ ผู้ป่วยอาจไม่ดีขึ้นเพราะไม่ได้ทานยาที่เราให้ ถ้าเราไม่ทราบความจริงและไม่ทำให้ผู้ป่วยไว้ใจบอกเรา ก็ไม่มีทางที่การรักษานั้นจะได้ผล ดังนั้น เราควรรักษาคนที่มีโรค มิใช่รักษาโรคในตัวคนเท่านั้น