บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 8 : ผมต้องการรักษากับหมอเชี่ยวชาญเท่านั้น

บอกเล่าเก้าสิบ

ผมจะออกตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาล 3 วันต่อสัปดาห์ ในการตรวจผู้ป่วยแต่ละวันนั้นก็ไม่ต่ำกว่า 50 คนต่อ 3 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่มากไม่น้อย แต่ต้องกล่าวว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งสามารถรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องมารักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลย แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโลกแตกแบบนี้ได้เลย ผมก็จะพยายามพูดกับผู้ป่วยและญาติในรายที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกลเพื่อรับการรักษากับผมที่ไม่ได้แตกต่างกับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเลย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยละญาติส่วนใหญ่จะบอกว่ายินดีมารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ถึงแม้จะไกล ลำบาก เสียเวลาแต่สบายใจ และที่สำคัญคือ จะบอกว่าใครๆเขาก็บอกว่าต้องมารักษาที่นี่เท่านั้น หมอเก่งมาก เครื่องมือก็ทันสมัย จะลำบากอย่างไรก็จะต้องมา ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไรครับ ผู้ป่วยเยอะมากแค่ไหน เราก็ยินดีครับที่จะตรวจให้หมดทุกคน ไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน เพราะเข้าใจว่าทุกคนลำบากมากแล้วที่ต้องเดินทางมาไกลแล้วถ้าเราจำกัดจำนวนผู้ป่วยอีก ก็จะเป็นการสร้างความลำบากให้เขาอีก ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้และเข้าใจวิธีคิดของผู้ป่วยและญาติ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีกรณีที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

“คุณหมอค่ะ มีผู้ป่วยอีกหนึ่งคนเพิ่งเดินทางมาถึงและยื่นบัตรค่ะ” เวลาตอนนั้นประมาณห้าโมงเย็นแล้ว พวกเรากำลังจะรีบกลับบ้าน แต่เมื่อมีผู้ป่วยเหลืออีกรายก็ต้องตรวจครับ แต่สิ่งที่เราพบกลับทำให้เราเกิดความสงสัยว่าทำไมผู้ป่วยถึงได้มาตรวจกับเราที่ห้องตรวจ เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตเมื่อเช้านี้ ตั้งแต่ช่วงเที่ยง ญาติก็รีบนำส่งที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที แต่พอญาติได้ติดต่อกับเพื่อน เพื่อนได้แนะนำว่าต้องพามารักษากับผมที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เท่านั้น จะไม่รอรักษากับหมอท่านอื่นๆ เรื่องที่เกิดขึ้นคือ การที่ผู้ป่วยโรคอัมพาตนั้นเป็นเร็ว มาโรงพยาบาลเร็วทันเวลา 270 นาที แพทย์ก็จะรีบให้การรักษาแบบทางด่วนที่เรียกว่า stroke fast track หรือ ทางด่วนโรคอัมพาต หรือ 270 นาทีชีวิต ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่ญาตินำส่งนั้นก็ได้เริ่มให้การรักษาด้วยระบบทางด่วน โดยจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจังหวัดกาฬสิน เนื่องจากห่างจากโรงพยาบาลชุมชนเพียง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็ถึง จะได้รีบให้การรักษาที่รวดเร็ว ผู้ป่วยก็มีโอกาสหายได้เร็ว แต่อย่างที่บอกไปแล้ว พอหมอจะส่งโรงพยาบาลกาฬสินแต่ญาติไม่ยอมต้องการให้ส่งมารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เท่านั้น พอเดินทางมาถึงห้องฉุกเฉินแพทย์ที่ห้องตรวจก็รีบให้การรักษาแต่ญาติก็ไม่ยอม บอกว่าต้องให้หมอผู้เชี่ยวชาญตรวจเท่านั้น ทางทีมแพทย์ก็พยายามอธิบายให้ญาติเข้าใจ และนับเวลาว่าตั้งแต่ที่เริ่มมีอาการจนมาถึงตอนนี้เป็นเวลานานเท่าไหร่ เกิน 270 นาทีหรือเปล่า ผลปรากฏว่าเป็นเวลา 300 นาที ซึ่งไม่ทันช่วง 270 นาทีทอง เป็นที่น่าเสียดายมาก ดังนั้นทางทีมแพทย์จึงไม่ได้แจ้งเตือนระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (activate stroke fast track) และเมื่อไม่ใช่ผู้ป่วยเร่งด่วนจึงได้ส่งผู้ป่วยมาตรวจกับผมตามที่ญาติต้องการ