บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 6 : อยากพบหมอคนเดิม

บอกเล่าเก้าสิบ

การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยทุกคนก็ต้องการพบหมอที่ตนเองไว้ใจมากที่สุด หรือไม่ก็เป็นหมอที่มีคนแนะนำให้รักษา ไม่ว่าจะอยู่ไกล ไปลำบากแค่ไหนก็จะต้องหาหนทางไปพบหมอคนนั้นให้ได้ จริงแล้วการรักษาที่เหมาะสมนั้นควรรักษาใกล้บ้านมากที่สุด เพื่อความสะดวก โดยเฉพาะการเจ็บป่วยทั่วๆไป เช่น ไข้หวัด ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง แต่ผู้ป่วยและญาติไม่ค่อยจะเข้าใจประเด็นนี้ จึงก่อให้เกิดปัญหาการรับบริการรักษาสุขภาพดังที่เราพบเห็นทั่วไป ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ต้องบอกเลยว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มารับการรักษาตามโรงพยาบาลใหญ่ๆนั้นไม่มีความจำเป็นต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวเลย สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ โดยให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน

“คุณหมอครับ หมอมีคลินิกที่ไหนหรือเปล่าครับ ถ้าผมและครอบครัวเจ็บป่วยจะได้ไปหาหมอที่คลินิกส่วนตัวได้ ผมรอพบหมอที่โรงพยาบาลไม่ค่อยสะดวกครับ บางครั้งต้องการพบทันทีเพื่อความมั่นใจว่าผมและครอบครัวจะได้รับการรักษาอย่างดีและถูกต้องจากคุณหมอครับ “ ประโยคเหล่านี้ผมได้ยินเป็นประจำจากผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ซึ่งผมก็จะไม่สะดวกในการบอกว่าผมมีคลินิกส่วนตัวหรือไม่ เพราะผมคิดว่าเป็นการผิดหลักจริยธรรมที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยทราบว่าผมมีคลินิกส่วนตัว ก็จะเป็นการคล้ายกับการหาประโยชน์ส่วนตัว เพื่อให้ผู้ป่วยไปรักษาที่คลินิก แต่ไม่ว่าเราจะปกปิดอย่างไร เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย ญาติก็สืบเสาะหาจนได้ว่าผมมีคลินิกหรือไม่ ออกตรวจวันไหน รวมทั้งการออกตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน

ผมมีผู้ป่วยเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ บ้านอยู่จังหวัดบึงกาฬ ไกลจากจังหวัดขอนแก่นมากกว่า 300 กิโลเมตร รักษาประจำต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมนัดตรวจประจำทุก 2 เดือน และแนะนำว่าถ้ามีปัญหาเจ็บป่วยอะไรก็ตามให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน เพราะสามารถดูแลรักษาได้ไม่ต่างกัน แต่ผู้ป่วยและญาติไม่ยอมปฏิบัติตามที่ผมแนะนำเลย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัวก็จะพยายามหาวิธีมาพบผมทุกครั้งไป ผู้ป่วยจะสืบหาข้อมูลว่าในแต่ละวันนั้นผมตรวจผู้ป่วยที่ไหน และก็มาหาผมได้ทุกครั้งที่เจ็บป่วย

ปัญหาเกิดขึ้นคือช่วงหนึ่งผมไปประชุมวิชาการต่างประเทศ ผมจึงไม่ได้ออกตรวจผู้ป่วยที่ไหนเลยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็พอดีกับผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของโรคกำเริบ คือ มีอาการขาอ่อนแรงมากขึ้น ปัสสาวะไม่ออก ไข้ขึ้นสูงเพราะมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ญาติจึงพาผู้ป่วยมาพบผมที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากได้พาไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าผมไม่อยู่ ไม่ได้ออกตรวจตามปกติ แนะนำให้ตรวจรักษากับหมอท่านอื่นก็ได้ แต่ผู้ป่วยและญาติไม่ยอม เพราะต้องการตรวจกับผม จึงได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โดยหวังว่าจะพบผมที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ไม่ได้พบผมอยู่ดร เพราะผมไม่อยู่จริงๆ ไปต่างประเทศ ผู้ป่วยและญาติจึงพากันกลับบ้านโดยไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย และก็รอมาพบผมที่โรงพยาบาลในสัปดาห์ต่อมา แต่เนื่องจากอาการครั้งนี้รุนแรงมากผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกก่อนที่จะมาพบผม เนื่องจากมีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและในเลือดด้วย แต่ไม่ได้รับการรักษาเลย ผู้ป่วยหมดสติญาติจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์รีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วน โชคดีที่รักษาได้ทันเวลา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้วจึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อให้การรักษาต่อโรคไขสันหลังอักเสบที่มีอาการกลับเป็นซ้ำมากขึ้น

สิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนได้เรียนรู้และได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ คือ การรักษาที่ใกล้บ้านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและควรปฎิบัติอย่างยิ่ง เราต้องไว้ใจระบบสาธารณสุขของประเทศที่ได้มีการจัดระบบไว้เป็นอย่างดี โดยมีโรงพยาบาลในทุกอำเภอ ทุกจังหวัด และในชุมชนเองก็มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยเดิม เพื่อให้การรักษาต่อประชาชนอย่างใกล้ชิดและสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไกล ผมต้องขอย้ำอีกครั้งว่าอาการเจ็บป่วยโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นอาการที่รุนแรง สามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่มีความจำเป็นต้องรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่มีอาการรุนแรงเกินขีดความสามารถของแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์ก็จะทำการส่งตัวเพื่อรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลระดับสูงขึ้นมาตามลำดับ