บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 5 ปรับขึ้นปรับลง

บอกเล่าเก้าสิบ

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อยมาก ผู้สูงอายุมักประสบปัญหาโรคความดันโลหิตสูง เมื่อตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงแพทย์ก็จะตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคไต โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อและอื่นๆ ซึ่งในผู้สูงอายุส่วนใหญ่แล้วมักไม่พบสาเหตุอื่นๆ คือ เกิดขึ้นเองเนื่องจากอายุที่มากขึ้น มีการแข็งตัวของหลอดเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคความดันโลหิตสูงจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หรือหนักศีรษะ เมื่อไม่มีอาการดังกล่าวแล้วจึงไม่ทานยาควบคุมความดันโลหิตสูง ดังตัวอย่างที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ผู้ป่วยหญิงสูงอายุ 80 ปี มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะจึงไปพบแพทย์ ตรวจพบความดันโลหิตสูง แพทย์ได้ให้ยาลดความดันมาทาน 1 เม็ดตอนเช้า หลังทานยาได้ 1 สัปดาห์ อาการหายดีเป็นปกติ ผู้ป่วยจึงหยุดทานยาเอง และได้ไปซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตมาใช้เพื่อที่จะได้ตรวจเช็คระดับความดันโลหิตได้เอง ไม่ต้องไปหาหมอให้เสียเวลา หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการวิงเวียนศีรษะแบบเดิมอีก ผู้ป่วยสงสัยว่าจะเกิดความดันโลหิตสูงจึงวัดความดันเอง พบว่าความดันสูง 180/100 มม.ปรอท จึงได้นำยาลดความดันโลหิตที่ได้รับมาทานต่อเองตามเดิม เมื่อทานยาได้ 3 วัน อาการเป็นปกติก็หยุดทานยาอีก หลังจากนั้นผู้ป่วยกังวลใจว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นอีก จึงตรวจวัดความดันโลหิตเองทุกวัน ถ้าพบว่าปกติก็จะหยุดยา ถ้าสูงก็ทานยา ทำแบบนี้สลับกันไปมาตลอด

จนวันหนึ่งผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงและปากเบี้ยว จึงรีบมาพบแพทย์ ตรวจพบว่าเข้าได้กับโรคอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง โดยเกิดจากความดันโลหิตที่สูงมาก ส่งผลให้หลอดเลือดสมองแตก แพทย์จึงสอบถามจากผู้ป่วยและญาติว่าเหตุใดจึงควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ก็เห็นว่ามาพบแพทย์แล้วได้รับยาไปทานแล้ว จึงได้พบความจริงที่ผู้ป่วยได้ทำมาตลอด ว่าทานยาเฉพาะวันที่วัดความดันโลหิตสูง ค่าปกติก็ไม่ทานยาลดความดัน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกต้องนั้น คือ การทานยาตามที่แพทย์สั่ง หมั่นสังเกตว่ามีผลแทรกซ้อนของยาหรือไม่ เช่น ไอแห้งๆ หรือ เท้าบวม ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ลดอาหารเค็ม รสจัด อาหารมันหรือหวานมาก ออกกำลังกาย กรณีมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้านนั้น ต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง เวลาที่ควรวัดได้แก่ ช่วงเช้า ช่วงค่ำ หรือก่อนนอน ไม่ควรวัดหลังจากมีกิจกรรมหรือหลังออกกำลังกาย เมื่อวัดค่าได้เท่าใดก็บันทึกไว้ในสมุด ไม่ควรปรับลดยาทานทุกครั้งที่วัด ยกเว้นค่าความดันที่วัดได้นั้นแตกต่างไปจากค่าปกติมากๆ เช่น ค่าความดันตัวแรกต่ำกว่า 90 มม.ปรอท หรือสูงมากกว่า 180 มม.ปรอท ถ้ามีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ หน้ามืดจะเป็นลมก็ควรรีบพบแพทย์ทันที แต่ถ้าปกติดี แนะนำให้พักและวัดซ้ำใหม่

เมื่อมาพบแพทย์ตามนัดก็นำสมุดที่บันทึกผลการวัดความดันโลหิตที่บ้านมาให้แพทย์ดูทุกครั้ง เพื่อที่แพทย์จะได้ใช้ประเมินผลการรักษาร่วมกับผลการตรวจวัดความดันเมื่อมาพบแพทย์ เนื่องจากค่าความดันโลหิตที่ตรวจวัดที่บ้านนั้นจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าการตรวจวัดเพียงครั้งเดียวที่โรงพยาบาล เพราะเมื่อมาวัดที่โรงพยาบาลอาจสูงกว่าความเป็นจริง เช่น เหนื่อยจากการเดินทาง หงุดหงิด เครียด คนมาก อากาศร้อนและปัจจัยอื่นๆ

ดังนั้น ถ้าเราทราบถึงข้อเท็จจริงของโรคความดันโลหิตสูง วิธีการดูแลตนเองที่ถูกต้อง และการวัดความดันโลหิตที่บ้านก็จะทำให้เราดูแลตนเองและสุขภาพของคนที่เรารักได้ดียิ่งขึ้น