บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 3 พ่อช่วยผมด้วย

บอกเล่าเก้าสิบ

“พ่อครับ ผมปวดศีรษะมากครับ ผมทนไม่ไหวแล้ว พ่อช่วยผมด้วย ผมจะตายแล้วครับ” คำพูดนี้เป็นคำพูดหรือร้องขอของผู้ป่วยชายอายุ 18 ปี ต่อพ่อซึ่งเป็นผู้พาลูกมาหาหมอ เมื่อพ่อได้ยินลูกพูดดังนั้นก็รีบบอกคนขับรถแท็กซี่ให้เลี้ยวรถเข้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น

ผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กหนุ่ม เป็นโรคเนื้องอกสมองและมีภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (hydrocephalus) โดยเริ่มรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท แต่ทางพ่อต้องการพามารักษาที่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์

ผมเป็นคนตรวจรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อวางสายระบายน้ำและนำก้อนเนื้องอกออก แต่เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีใบส่งตัวมา ผมจึงแนะนำให้คุณพ่อพาลูกชายกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากมีหมอผู้เชี่ยวชาญสามารถให้การรักษาได้และจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

พ่อจึงพาผู้ป่วยขึ้นรถแท็กซี่กลับโรงพยาบาลจังหวัด แต่ระหว่างเดินทางกลับ รถติดหน้าโรงพยาบาลเอกชนและลูกก็พูดประโยคข้างต้น พ่อจึงบอกให้คนขับรถแท็กซี่เลี้ยวรถเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพื่อรักษาอาการปวดหัวของลูกที่ร้องขอพ่อว่า “ผมจะตายแล้ว พ่อช่วยผมด้วย” ถึงแม้ว่าพ่อจะมีเงินไม่มากพอที่จะให้ลูกรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ด้วยความรักลูกจึงต้องพาลูกเข้าโรงพยาบาลเอกชน

เมื่อนอนรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ประจำโรงพยาบาลก็ได้ปรึกษาให้ผมไปดูแล เมื่อผมไปถึงห้องผู้ป่วยเห็นหน้าคุณพ่อและผู้ป่วยก็จำได้ จึงพูดเชิงต่อว่าคุณพ่อว่า “คุณพ่อ หมอบอกแล้วว่าให้พาลูกไปรักษาโรงพยาบาลจังหวัดก็ได้ เพราะมีหมอเชี่ยวชาญเหมือนกัน รักษาได้ดีเหมือนกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วคุณพ่อก็พามาโรงพยาบาลเอกชนอีก หมอไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าทำไมไม่เชื่อหมอ” เมื่อผมพูดจบ คุณพ่อก็บอกว่า “ขอโทษคุณหมอด้วยครับที่ผมไม่ทำตามที่คุณหมอแนะนำ เพราะระหว่างที่ผมพาลูกขึ้นรถแท็กซี่กลับไปโรงพยาบาลจังหวัด พอดีรถติดหน้าโรงพยาบาลเอกชน เมื่อผมได้ยินลูกร้องขอแบบนี้ ผมไม่มีเงินหรอกครับ แต่ผมไม่มีทางเลือกครับ ต้องตัดสินใจช่วยเหลือลูกก่อน ค่าใช้จ่ายครั้งนี้ผมก็ต้องกู้เงินเขามาจ่ายแน่นอน”

เมื่อผมได้ยินดังนี้ ผมถึงกับพูดไม่ออกเลย สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดคือนั่งคุยกับคุณพ่อ ให้กำลังใจคุณพ่อ และก็ช่วยคุณพ่อเรื่องค่าใช้จ่ายโดยไม่คิดค่าแพทย์ในการดูแลรักษา

ผมได้เรียนรู้หลายอย่างมากจากเรื่องนี้ เช่น ความรักของพ่อยอมได้ทุกอย่างเพื่อให้ลูกหายจากความเจ็บปวด ความไม่มั่นใจในระบบสุขภาพของประเทศ การเข้าถึงระบบการบริการ โดยเฉพาะมุมมองของผมเปลี่ยนไปจากการใช้ความคิดของตนเองเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติก่อน