บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 25: หลายหมอดีกว่าหมอเดียว

บอกเล่าเก้าสิบ

หลายหัวดีกว่าหัวเดียว หรือหัวเดียวกระเทียมลีบ ซึ่งบ่งบอกว่าหลายๆ คนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ย่อมดีกว่าคนเดียวคิดคนเดียว ทำคนเดียว ซึ่งก็นำมาใช้ในวงการแพทย์ได้ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเจ็บป่วยด้วยโรคที่วินิจฉัยยากมาก ต้องให้แพทย์หลายๆ คนช่วยกันคิดว่าเป็นโรคอะไร หรือบางคนก็เป็นหลายโรค ซึ่งต้องอาศัยแพทย์หลายสาขาช่วยกันรักษา

ผมมีผู้ป่วยสูงอายุรายหนึ่งมีอาการทั้งระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหอบหืด แต่ก็แปลกที่เพิ่งเริ่มเป็นตอนอายุมากเกือบ 75 ปี มีอาการอ่อนแรง ชาปลายมือ ปลายเท้า ตรวจพบว่าเป็นเส้นประสาทอักเสบ ตรวจพบว่าความผิดปกติในปอดอีกด้วย แถมตรวจเลือดก็พบว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลล์ สูงมากกว่าปกติอย่างมาก ต้องช่วยกันคิดหลายๆ คนเลยครับ

แพทย์มีขั้นตอนหนึ่งที่มีประโยชน์มากคือ นำผู้ป่วยที่น่าสนใจมาร่วมปรึกษาเพื่อให้ได้การวินิจฉัย การรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยรายนี้มาหาผมเป็นหมอคนแรกที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก เนื่องจากมีอาการชาและอ่อนแรงแขนขา แต่ตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ ด้วย ผมจึงจำเป็นต้องขออนุญาตผู้ป่วยและญาติว่าจะนำประวัติผลการตรวจทั้งหมดเข้าที่ประชุมเพื่อให้ได้คำตอบว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ตอนแรกผู้ป่วยก็ไม่ยอม บอกว่าอยากให้ผมรักษาคนเดียว ผมจึงต้องอธิบายถึงขั้นตอนการวินิจฉัย การรักษาของแพทย์ว่าในกรณีไหนบ้างต้องนำผู้ป่วยเข้าร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจดีก็อนุญาตให้นำประวัติและผลการตรวจเข้าประชุม ซึ่งประกอบด้วยแพทย์หลากหลายสาขา จนได้คำตอบว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันไวผิดปกติชนิดหนึ่ง เมื่อผู้ป่วยมาติดตามการรักษาก็ต้องพบหมอหลายท่าน ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยก็ไม่ยอม เพราะไม่สะดวกที่ต้องรอพบหมอหลายท่าน ผมจึงต้องพยายามประสานงานการนัดหมายให้พบหมอสาขาต่างๆ ในวันเดียวกัน

ผมต้องการบอกกับผู้อ่านว่าโดยส่วนใหญ่แล้วหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทั่วๆ ไปได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาเฉพาะที่มีความลึกซึ้งมากๆ มีความจำเพาะมากๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หลายๆ ท่าน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด