บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 24: อยากหายไวๆ

บอกเล่าเก้าสิบ

โรคบางโรคเป็นแล้วรักษาหาย เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไข้หวัด แต่บางโรคก็ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบ บางโรคการรักษาเป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขลักษณะการดำเนินโรคได้ เช่น โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขอาการผิดปกติ เช่น สั่น เคลื่อนไหวช้า ล้มง่าย และต้องชะลอการดำเนินโรคที่จะพบว่าผู้ป่วยเมื่อมีอาการได้ 5-7 ปี จะมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ ยาที่ทานและเคยได้ผลก็จะไม่ได้ผล ต้องเพิ่มยาขึ้นเรื่อยๆ

การชะลอไม่ให้โรคมีการทรุดลง ก็คือ ต้องใช้ยารักษาตามอาการขนาดต่ำๆ ดังนั้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นแต่ไม่ดีขึ้นเต็มที่ ตรงประเด็นนี้เอง จึงมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางส่วนที่ไม่เข้าใจในวิธีการรักษาดังกล่าวจึงเพิ่มยาที่ทานเอง

ยาที่ชื่อลีโวโดปาร์ (levodopar) ยาชนิดนี้เมื่อใช้ขนาดสูงขึ้นในช่วงแรกก็มีผลดี ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้คล่องมากขึ้น แต่ถ้าใช้ขนาดสูงเกินความเหมาะสม ก็จะเป็นการเร่งให้โรคทรุดลง

ผู้ป่วยผมรายหนึ่งอายุประมาณ 55 ปี เริ่มมีอาการประมาณ 2 ปี ผมเริ่มให้ยาลีโวโดปาร์ทาน 1 ใน 4 เม็ด 2 เวลา หลังอาหารเช้า-เย็น ช่วงแรกผู้ป่วยก็ทานยาตามที่ผมจัดให้ แต่ผ่านไปประมาณ 6 เดือน ผู้ป่วยก็เริ่มมาก่อนนัด โดยบอกว่ายาหาย ยาไม่พอ ยาหมดก่อนหลายๆ ครั้ง ผมก็เลยแปลกใจ จึงได้สอบถามในรายละเอียดก็ได้ความจริงว่า สาเหตุยาหมดก่อน เพราะผู้ป่วยทานยามากกว่าที่ผมจัดให้ เพราะสังเกตว่าถ้าทานยาเป็นครึ่งเม็ด 3 เวลา จะมีอาการดีขึ้นมาก จึงปรับยาเองมาตลอด ผมจึงต้องแนะนำผู้ป่วยถึงวิธีการรักษา ลักษณะการดำเนินโรค เมื่อผู้ป่วยเข้าใจดีก็จึงยอมทานยาตามที่ผมจัดให้

ต่อจากนั้นเมื่อผมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันก็จะต้องอธิบายถึงหลักการรักษา ข้อดีข้อเสียของการใช้ยาชนิดต่างๆ ผมเองก็ต้องเรียนรู้ถึงวิธีการแนะนำวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันจากผู้ป่วยด้วย