บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 23: ไม่มั่นใจ ไม่ไว้ใจ ตอนที่ 2

บอกเล่าเก้าสิบ

สืบเนื่องจากบอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 22 ที่ผมแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะสะดวกกว่าที่มารักษาโรงพยาบาลใหญ่ และถ้าโรงพยาบาลใกล้บ้านมียาด้วยก็ไม่มีความจำเป็นที่จะมารักษาให้ไกล

ผมมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เป็นผู้ชายสูงอายุ 75 ปี อาการสามารถควบคุมได้ดีด้วยยาเพียง 2 ชนิด คือ มาร์โดปาร์และอาร์เทน เมื่ออาการคงที่ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผมก็เลยส่งตัวกลับไปรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งก็ได้สอบถามไปแล้วว่ามียาชนิดเดียวกัน หลังจากที่ผู้ป่วยย้ายไปรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ 3 เดือนก็กลับมาหาผมอีกรอบ

“สวัสดีครับคุณตา สบายดีนะครับ” คุณตาตอบผมว่า “ไม่สบายครับหมอ ตาแย่ลงมากเลย เพราะตาไม่ได้ทานยา 1 ชนิด ตอนแรกที่รักษากับหมอมียา 2 ชนิด แต่พอไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ยาไม่เหมือนกัน 1 ชนิด ตาก็เลยไม่ได้ทานยา อาการจึงไม่ดีเลย หมอช่วยรักษาตาด้วยนะ”

ผมนำยามาดู จริงแล้วก็ยาชนิดเดียวกัน เพียงแต่คนละยี่ห้อ คุณตาก็เลยไม่ยอมทาน ปัญหานี้เป็นสิ่งที่พบบ่อยมาก เวลาส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาใกล้บ้าน เพราะยาที่ใช้แต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันต่างยี่ห้อกัน แต่จะมีคุณสมบัติเหมือนกัน หรืออาจแตกต่างกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถใช้แทนกันได้ แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่ยอมรับ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ารูปร่างสีที่แตกต่างกัน ก็จะไม่ยอมทานยา

ผมอยากอธิบายให้ผู้อ่านทราบว่า ยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ชนิดแรก คือ ยาต้นแบบ (original) และยาชื่อสามัญ (generic) ซึ่งการผลิตยาชื่อสามัญนั้นจะมีมาตรฐานควบคุมขั้นตอนการผลิตยาให้ยามีความเหมือนกับยาต้นแบบในด้านคุณสมบัติ การละลาย การแตกตัว การดูดซึม โดยจะแตกต่างจากยาต้นแบบไม่เกินร้อยละ 15-20 จึงสามารถใช้แทนกันได้ เราต้องส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ เพราะราคาถูกกว่ายาต้นแบบมาก ตั้งแต่ 2-3 เท่าถึง 50 เท่าก็มี