บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 12: เอาแค่นี้ก็พอ

บอกเล่าเก้าสิบ

“คุณยายครับ น้ำตาลวันนี้สูงมากเลยครับ 429 คุณยายสบายดีนะครับ สงสัยจะทานอาหารและของหวานมากไปหรือเปล่า ดูคุณยายสดชื่นจังเลย”

“ยายสบายดีคุณหมอ ยายสบายดีมาก กินได้ทุกอย่างเลย ไม่เบื่ออาหาร ลูกๆ ก็หาของมาให้กินมากมาย” ผมทำหน้างงนิดหน่อย แล้วหันไปมองลูกสาวคุณยายที่มาด้วย ลูกสาวคุณยายรีบบอกผมทันทีว่า ลูกๆ ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า แม่มีอายุ 92 ปีแล้ว อยากให้แม่มีความสุขสบายไม่ต้องควบคุมอาหาร ควบคุมอะไรอีกแล้ว ต้องการอะไร อยากกินอะไร ลูกๆ ก็หามาให้ทุกอย่าง อยากให้แม่มีความสุข จึงไม่ควบคุมอะไรเลย

ผมก็เลยบอกคุณยายและลูกสาวว่า “ผมก็เข้าใจทุกอย่างนะครับ การรักษาที่ดีที่สุดคือ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติต้องดี ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วทุกคนมีความสุข ผมก็ OK ครับ อย่างนั้นพวกเราทุกคนก็จะได้มีเป้าหมายเดียวกัน เข้าใจตรงกันนะครับ ผมก็จะไม่ปรับเปลี่ยนการรักษาอะไร ไม่เพิ่มยา แต่ก็ยังอยากให้พยายามลดของหวานๆ ลงอีกหน่อยก็ดีครับ ถ้าพอเป็นไปได้”

เบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อยมากๆ ผู้ป่วยที่รักษากับผมเกือบครึ่งจะเจ็บป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูงและไขมันสูง ยิ่งอายุมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวมากขึ้น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นเรื่องที่หมอต้องพูดกับผู้ป่วยทุกครั้งเมื่อมาตรวจรักษา การปรับพฤติกรรมการทานอาหาร การออกกำลังกาย ลดความเครียดเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก การทานยาให้สม่ำเสมอนั้นง่ายยิ่งกว่า โดยเฉพาะเรื่องการทานอาหาร เพราะประเทศไทยมีอาหารอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะผลไม้มีให้ทานทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง เงาะ ลำไย ทุเรียน ส้ม มะละกอ ขนุน แตงโม มะขามหวาน ขนมหวานก็สารพัดชนิด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงยากต่อการควบคุม พอหมดผลไม้ชนิดหนึ่งก็มีชนิดหนึ่งอีก สลับกันไปมา

ผมเองก็ต้องคอยแนะนำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจเสมอว่าการควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะระดับน้ำตาลที่สูงนั้นจะส่งผลเสียต่อระบบไต ตา ประสาทสมอง หัวใจและหลอดเลือด ก็พบว่าส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยากมาก

เป้าหมายที่ต้องการก็คือ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ไตวาย อัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบ แผลที่เท้า ซึ่งผลที่ดีนั้นต้องแลกมากับการปฏิบัติตัวที่ดี ทานยาสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารให้ถูกต้องไปหมดทุกอย่าง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะได้รับความลำบากจากการปฏิบัติตัว จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพชีวิตได้

ดังนั้น ลูกๆ และคุณยาย 92 ปีต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี จึงไม่อยากควบคุมหรือจำกัดสิ่งต่างในชีวิตให้มากนัก เพราะเห็นว่าอายุ 92 ปีนั้นมากแล้ว ไม่อยากให้ลำบาก จะเห็นได้ว่าการทำให้ชีวิตเรามีความสมดุลนั้นไม่ใช่สิ่งที่แพทย์จะเป็นผู้ตัดสิน ควรให้เป็นญาติและผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจ และรับผิดชอบร่วมกันต่อสิ่งที่ตัดสินใจนั้น แพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำที่ดีและครอบคลุมทุกประเด็นเท่านั้น