บริจาคสมอง อวัยวะ และร่างกายที่ใช้แล้ว (ตอนที่ 2)

น้ำท่วมสมอง-2

      

      โดยการบริจาคนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการพัฒนาวิธีรักษาโรคให้หาย เพราะทำให้นักวิจัยและแพทย์สามารถเข้าใจถึงภาวะของโรคได้ง่าย เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรควัวบ้าที่ติดจากการกินเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้า (variant Creutzfeldt-Jakob Disease = vCDJ)

      ทั้งนี้ ภายหลังการเสียชีวิต จะมีเวลาเพียง 72 ชั่วโมง ในการเก็บเนื้อเยื่อสมองที่บริจาคเพื่อนำไปศึกษาต่อ

      อย่างไรก็ดี มีหลายครั้งที่ธนาคารสมองไม่สามารถรับสมองที่แจ้งความประสงค์ในการบริจาคไว้ได้ เช่น กรณีที่ต้องรอเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพถึงสาเหตุของการเสียชีวิตก่อน หรือกรณีที่มีการบริจาคร่างกายทั้งตัวไปเพื่อการศึกษากายวิภาค (Anatomical examination) แล้ว ซึ่งรวมถึงสมองและไขสันหลังด้วย หรือกรณีที่การอ่านพินัยกรรมหรือการทราบถึงความต้องการของผู้เสียชีวิตอาจเกิดขึ้นหลังจากที่เสียชีวิตไปเป็นเวลานานแล้ว

      ในอังกฤษ การบริจาคสมองจะไม่เหมือนกับการบริจาคอวัยวะทั่วไป เพราะผู้ที่บริจาคสมองจะต้องแจ้งความประสงค์ต่างหาก และหลังการแจ้งความประสงค์แล้ว ในแต่ละปีผู้บริจาคจะต้องได้รับการประเมิน (Cognitive assessment) เพื่อทดสอบความจำด้วย

      และเมื่อได้รับสมองที่บริจาคแล้ว จะมีการแบ่งสมองออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งจะถูกนำไปแช่แข็ง (Frozen) และอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำมาตัดแยกเพื่อวิเคราะห์และเก็บรักษาบนแผ่นสไลด์ (Slides) ทั้งนี้ ตัวอย่างสมองเหล่านี้จะเก็บไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด โดยสมองที่ได้รับการบริจาคเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันก็ยังสามารถนำมาศึกษาได้อีก

      สำหรับประเทศไทย การบริจาคจะมี 2 ลักษณะ กล่าวคือ การบริจาคร่างกายและการบริจาคอวัยวะ โดย

      การบริจาคร่างกายจะเป็นการบริจาคทั้งร่าง ซึ่งประโยชน์ที่เกิดจากการบริจาคร่างกายจะเป็นไปเพื่อการศึกษา การวิจัยและการรักษาทางการแพทย์ เช่น

  • เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน
  • เพื่อการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์
  • เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ
  • เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์
  • เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
  • เพื่อเก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป

      โดยสามารถบริจาคได้ตามสถานที่รับบริจาคร่างกายที่อยู่ใกล้ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เช่น

  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลศิริราช ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
  • ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แหล่งข้อมูล:

  1. บริจาคร่างกาย บริจาคอวัยวะ. http://donationthailand.com/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B1 [2018, May 11].
  2. Brain donation urged by Cardiff dementia research centre . http://www.bbc.com/news/uk-wales-43084710 [2018, May 11].
  3. Brain donation. https://www.hta.gov.uk/guidance-public/brain-donation [2018, May 11].