บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยการเตรียมระดมทีมแพทย์และพยาบาลจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยลงพื้นที่ดูแลผู้ประสบภัยในกรุงเทพฯ พร้อมวางแผนออกเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ยังติดอยู่ตามบ้านให้ครอบคลุมที่สุด

ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูโรงพยาบาลหลังถูกน้ำท่วมนั้น ในวันนี้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ได้เริ่มเปิดบริการแล้ว โดยให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอก และ ผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ยังไม่เต็มรูปแบบทั้งหมด เนื่องจากปัญหาการเดินทาง และดูแลเรื่องระบบน้ำ ไฟฟ้า สาธารณูปโภคอื่นๆ โดยจะทำการฟื้นฟูเพื่อกู้สถานะให้กลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบได้เร็วที่สุด

ผู้ป่วยฉุกเฉิน จะได้รับการดูแลจากห้องฉุกเฉิน (Emergency room; ER) หรืออาจรู้จักกันในนาม "อุบัติเหตุและฉุกเฉิน" (Accident and emergency; A & E) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในโรงพยาบาลที่ให้การบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วยเฉียบพลัน (Acute) โดยมิได้มีการนัดหมายล่วงหน้า ผู้ป่วยอาจมาโรงพยาบาลเองหรือมาโดยเรียกรถพยาบาล

เนื่องจากลักษณะที่มิได้วางแผนมาล่วงหน้ามาก่อน หน่วยงานนี้จึงต้องให้การบำบัดรักษาเบื้องต้นสำหรับการเจ็บป่วยนานาประเภท ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และต้องได้รับการดูแลอย่างปัจจุบันทันด่วน ศูนย์ผู้ป่วยฉุกเฉินแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2454 ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Louisville ในรัฐเค็นตั๊กกี้

เนื่องจากผู้ป่วยอาจมาถึงโรงพยาบาลเมื่อใดก็ได้ และด้วยอาการใดก็ได้ ปฏิบัติการหลักของห้องฉุกเฉิน จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นของการเจ็บป่วย ผ่านการคัดแยกผู้ป่วย (Triage) โดยพยาบาล หรือแพทย์ ในขั้นแรกผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการ ก่อนที่จะส่งไปให้แผนกอื่นบำบัดรักษา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับการบำบัดรักษา ณ ขั้นตอนแรก ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยรายอื่นที่มีอาการรุนแรง อาทิ หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) อาจข้ามขั้นตอนการคัดแยกผู้ป่วย ไปยังแผนกอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง [อาทิ คลินิกโรคหัวใจ]

การกู้ชีพ (Resuscitation) ในห้องฉุกเฉินเป็นงานสำคัญยิ่ง ซึ่งมีอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถรับมือกับการเจ็บป่วยที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตทันทีทันใด หรือปัญหาร้ายแรงจากกระดูกแตกหัก กระดูกหักข้อเคลื่อน และแผลฉีกขาดที่ต้องมีการเย็บปิดแผล

การตัดสินใจอย่างรวดเร็วในห้องฉุกเฉิน อาจกำหนดความเป็นความตายของผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง และห้องฉุกเฉินจึงต้องมีอุปกรณ์พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลในสภาวะที่ร้ายแรงหรือหมดสติ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องนวดหัวใจ การผายปอดกู้ชีพ และวัสดุห้ามเลือดให้หยุดไหลทันที

เนื่องจากเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในผู้ป่วยวิกฤต แต่ปราศจากข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับประวัติการรักษา ภูมิแพ้ และ กรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย โรงพยาบาลบางแห่งจึงติดตั้งเครื่องตรวจวิเคราะห์และเครื่องช่วยวินิจฉัยอยู่ในห้องฉุกเฉินด้วย เพื่อเร่งความเร็วในการรู้ผลตรวจ ก่อนลงมือเยียวยาผ่าตัด

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ยังได้รับการฝึกอบรมให้สามารถดูแลผู้ป่วยระหว่างอยู่ในรถพยาบาล หรือระหว่างขนย้ายด้วยเครื่องบิน (Aviation medicine) รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ณ สถานเกิดอุบัติเหตุด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. ระดมหมอ-พยาบาลดูแลผู้ประสบภัยในกทม. http://www.posttoday.com/สังคม/สาธารณสุข/118906/ระดมหมอ-พยาบาลดูแลผู้ประสบภัยในกทม [2011, October 28].
  2. Emergency Department. http://en.wikipedia.org/wiki/Emergency_department [2011, October 28].