น้ำเกลือจะขาดแคลนหลังวิกฤตน้ำท่วม

กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า อาจขาดแคลน 2 เดือน . . . . สำหรับยาหรือเวชภัณฑ์ที่ทดแทนไม่ได้ และมีความจำเป็นต้องใช้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ คลินิกรักษาโรคต่างๆ จนถึงผู้บริโภคที่สามารถซื้อไปใช้เองได้นั้น จะเห็นว่าตัวที่กำลังขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัดคือ น้ำเกลือ กับกระบอกฉีดยาและเข็มต่างๆ . . . . .

น้ำเกลือที่ใช้ในวงการแพทย์ หมายถึงสารละลาย (Solution) ที่มีส่วนผสมของเกลือ และปลอดเชื้อ (Sterile) เมื่อใช้ในกรณี ให้ทางหลอดเลือดดำ (Intravenous infusion) ใช้ล้างเลนส์สัมผัส การล้างจมูก และรวมทั้งการล้างแผลต่างๆ และผิวหนังถลอก

ความเข้มข้นของเกลือที่ใช้ในการแพทย์มีปริมาณต่ำถึงปรกติเท่านั้น ส่วนปริมาณสูงมักใช้ใน [ห้องปฏิบัติการ] โมเลกุลชีววิทยา “น้ำเกลือปรกติ” (Normal saline) มีความเข้มข้น 0.9% กล่าวคือเกลือ 9.0 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ปริมาณของ “น้ำเกลือปรกติ” ที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย แต่มักอยู่ระหว่าง 1.5 ลิตร ถึง 3 ลิตรต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่ง“น้ำเกลือปรกติ” จะไม่ก่อปฏิกิริยากับแผล หรือทำให้แสบปวด

“น้ำเกลือปรกติ” มักให้ทางหลอดเลือดดำสำหรับผู้ป่วยที่ขาดน้ำ (Dehydrated) อาทิ ท้องร่วง (Diarrhea) หรือหัวใจวาย (Heart failure) หรือไม่สามารถดื่มน้ำทางปากตามปรกติ เนื่องจากการให้สารละลายที่มีความเข้มข้นต่ำ [อาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย] จึงมีการเติมน้ำตาลในปริมาณระดับที่เหมาะสม

ผู้ติดยาเสพติด อาจใช้น้ำเกลือขจัดสิ่งเสพติดออกจากร่างกาย แต่ถ้าไม่ได้ปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง (Dose) ก็อาจได้รับผลตรงกันข้าม เพราะน้ำตาลที่ใช้ในการเตรียมน้ำเกลือ อาจเจือจางลงกว่าปรกติ

น้ำเกลืออาจไม่ต้องปลอดเชื้อ หากใช้ในกรณีล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการบางอย่างของไข้หวัด เนื่องจากโพรงจมูกก็มิได้ปลอดเชื้เช่นกัน ดังนั้นก็อาจเตรียมน้ำเกลือทำเองที่บ้าน โดยใส่เกลือป่นประมาณครึ่งช้อนชาในน้ำประปาที่สะอาด 1 แก้ว

เชื่อกันว่า น้ำเกลือเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2360 เมื่อโรคอหิวาต์ที่เรียกกันว่า “อินเดียนสีฟ้า” (Indian Blue Cholera) ระบาดไปทั่วยุโรป William Brooke O'Shaughnessy ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนแพทย์ Edinburgh ในประเทศสก๊อตแลนด์ ได้เสนอบทความในวารสารการแพทย์ชื่อ “The Lancet” ให้ฉีดน้ำเกลือ เพื่อทดแทนการเสียน้ำ ที่ทำให้การไหลเวียนโลหิตล้มเหลวที่พบในผู้ป่วยหนักจากอหิวาตกโรคที่ขาดน้ำ เขาพบว่าการบำบัดของเขาไม่เป็นอันตรายในสุนัข และข้อเสนอเขาเป็นที่ยอมรับในไม่ช้าของนายแพทย์ Thomas Latta ในการบำบัดผู้ป่วยอหิวาตกโรคอย่างได้ผล

ในทศวรรษต่อมา ได้มีการทดสอบวิธีการต่างๆ และทางเลือกอื่นๆ ในการบำบัดผู้ป่วยอหิวาตกโรค โดยสารละลายอาจประกอบด้วยความเข้มข้นของ โซเดียม คลอไรด์ โปตัสเซี่ยม คาร์บอเนต และ/หรือโฮดรอกไซด์

ความเข้มข้นที่สอดคล้องกับทางสรีรวิทยาได้วิวัฒนาจนประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2374 เมื่อ Ringer สามารถกำหนดความเข้มข้นของเกลือที่เหมาะสมที่สุด เพื่อรักษาความสามารถในการหดตัวของเนื้อเยื่อหัวใจของกบ แต่สิ่งที่เขาค้นพบ เป็นที่ยอมรับและนำใช้เมื่อหลายทศวรรษต่อมา และได้วิวัฒนามาเป็น “น้ำเกลือปรกติ” ในปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:

  1. หวั่นวิกฤตน้ำท่วมลามสู่ยุค‘ปันส่วน’! จี้รัฐเร่งแก้‘อาหาร-ยา-เวชภัณฑ์’ขาดแคลน http://www.manager.co.th/Weekly54/ViewNews.aspx?NewsID=9540000145733&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, November 17].
  2. Saline (Medical). http://en.wikipedia.org/wiki/Saline_%28medicine%29 [2011, November 17].