น้ำลด ตอผุด ขยะเกลื่อน (ตอนที่ 1)

น้ำลดตอผุดขยะเกลื่อน

จนถึงสิ้นเดือนมกราคม ความคืบหน้าของการติดตามการแก้ไขปัญหาบ่อขยะของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนหลังจากช่วงน้ำท่วมได้มีปริมาณน้ำเน่าเสียระบายลงสู่พื้นที่ทางการเกษตรและแหล่งหาปลาหลายตารางกิโลเมตร ยังไม่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง คงมีเพียงสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เข้าตรวจสอบอาการป่วยของชาวบ้าน

นพ.บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า เจ้าหน้าที่และนักวิชาการสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่ในระหว่างการเตรียมลงพื้นที่เพื่อสืบสวนติดตามอาการป่วยของประชาชน รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังเก็บข้อมูลผลกระทบจากน้ำและอากาศโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราจะมุ่งไปยังสุขภาพของคนเป็นหลัก

ส่วนความเคลื่อนไหวของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้รับผิดชอบล่าสุดนั้นได้มีการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง โดยได้เตรียมที่จะออกแบบคันดินใหม่ และเตรียมส่งหนังสือไปยัง กอ.รมน.นครศรีธรรมราช เพื่อขอสนับสนุนเครื่องจักรกลหนักเข้ามาปรับพื้นที่และยกระดับคันดิน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่อการตรวจสอบพื้นที่นี้ได้ระบุเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกระดับควรต้องยอมรับได้แล้วว่า พื้นที่นี้เป็นภัยพิบัติทางมลพิษไปแล้ว และเกินกำลังขีดความสามารถการแก้ไขในระดับจังหวัด

นักวิชาการรายนี้ได้กล่าวถึงสิ่งที่เร่งด่วนที่สุดขณะนี้คือ การตรวจเลือดของชาวบ้านที่อยู่กับมลพิษทั้งน้ำและอากาศมาเป็นเวลานาน เพื่อหาสารตกค้างในเลือด โดยเฉพาะกลุ่มโลหะหนักทั้งหลาย รวมทั้งวิเคราะห์ทางพิษวิทยา เช่นเดียวกับการตรวจตรวจสารตกค้างในพืชอาหารพื้นบ้าน และสัตว์น้ำที่ชาวบ้านใช้เป็นอาหารในพื้นที่

ทั้งนี้เพราะ น้ำเน่าไม่ได้มาแค่กลิ่นหรือสีเท่านั้น มันพาสารที่ปนเปื้อนมาด้วยทั้งประเภทสารเคมีและโลหะหนัก ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลในการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ และจะเห็นปัญหานี้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่แค่ผิวเผิน

โลหะหนักหลายตัว เช่น สังกะสี ทองแดง โครเมียม เหล็ก และแมกกานีส ในปริมาณที่น้อยล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีการสะสมอยู่ในปริมาณที่มากจะสามารถก่อให้เกิดปัญหาได้

พิษจากโลหะหนัก (Heavy metal poisoning / Heavy Metal Toxicity) เป็นการสะสมของโลหะหนักในร่างกายในปริมาณที่สามารถก่อให้เกิดพิษได้ เราอาจได้รับสารพิษโลหะจากมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากน้ำ อากาศ อาหาร ยา บรรจุภัณฑ์ หรือขยะ

ทั้งนี้ สารพิษโลหะสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ทางอาหาร น้ำ อากาศ และการซึมซับทางผิวหนัง โดยอาการจะแตกต่างกันไปตามชนิดของโลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกาย โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

บรรณานุกรม

1. ปัญหาบ่อขยะนครศรีฯ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจี้ผู้บริหารตรวจสอบสารตกค้างในตัวคน. http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9600000010619&Keyword=%e2%c3%a4 [2017, February 12]

2. Heavy Metal Poisoning. http://www.dermnetnz.org/topics/heavy-metal-toxicity/ [2017, February 12]

3. Heavy metal toxicity. http://www.aplaceformom.com/senior-care-resources/articles/pneumonia-in-the-elderly [2017, February 12]