น้ำยาบ้วนปากดีจริงหรือไม่ (ตอนที่ 2)

น้ำยาบ้วนปากดีจริงหรือไม่-2

      

      น้ำยาบ้วนปากไม่เหมาะสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี เพราะเด็กอาจกลืนน้ำยาบ้วนปากได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดภาวะเป็นพิษ (Intoxication)

      น้ำยาบ้วนปากแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • น้ำยาบ้วนปากชนิดทั่วไป (Cosmetic Mouthwash) โดยน้ำยาบ้วนปากชนิดนี้อาจควบคุมกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวหรือในระยะเวลาสั้นๆ และให้รสชาติที่ชอบเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารชีวภาพ (Chemical or biological) และไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียในช่องปากที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากได้
  • น้ำยาบ้วนที่ใช้รักษาโรคในช่องปาก (Therapeutic Mouthwash) เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมในการช่วยกำจัดแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก ช่วยลดกลิ่นปาก โรคเหงือกอักเสบ และฟันผุ

      น้ำยาบ้วนปากส่วนใหญ่จะประกอบด้วย

  • แอลกอฮอล์ (Alcohol) หรือสารต้านจุลชีพที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial agents) เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นทั้งที่มีประโยชน์ช่วยในการย่อยและที่ทำให้ฟันผุ ปากมีกลิ่นเหม็น
  • สารซักฟอก (Detergents) ที่ช่วยขจัดเศษอาหารและทำให้คราบจุลินทรีย์หลุดออก
  • รสและสี ที่ทำให้รสชาติและสีสันดูดี
  • สารกันบูด (Preservatives) ที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในน้ำยาบ้วนปาก
  • น้ำ ที่ช่วยละลายส่วนประกอบต่างๆ

      และน้ำยาบ้วนปากบางชนิดอาจมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ (Fluoride) ที่ช่วยป้องกันฟันผุ

      ทั้งนี้ น้ำลายในปากถือเป็นน้ำยาบ้วนปากตามธรรมชาติที่ช่วยขจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปากและโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ได้

      ส่วนน้ำเกลือ (Saltwater) ถือเป็นน้ำยาบ้วนปากที่ดีในระยะสั้น โดยเฉพาะกรณีที่มีแผลในปาก เช่น กรณีถอนฟัน เพราะเกลือจะทำหน้าที่เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อตามธรรมชาติ (Natural disinfectant) ช่วยลดอาการบวมกรณีที่ติดเชื้อหรือมีแผลในช่องปาก อย่างไรก็ดีไม่แนะนำให้ใช้น้ำเกลือในระยะยาว เพราะอาจทำลายเคลือบฟันและทำให้ฟันกะเทาะและเป็นรูได้ง่าย

      น้ำยาบ้วนปากไม่ใช้สิ่งที่ทำให้มีสุขภาพปากที่ดี แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลช่องปากหลังการแปรงฟัน ขัดฟัน ดังนั้น กรณีที่มีปัญหาช่องปากจึงควรตรวจฟันกับทันตแพทย์

      อย่างไรก็ดี กรณีที่ต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก ควรใช้น้ำยากลั้วปากเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที และไม่ควรดื่มน้ำทันทีหลังการใช้น้ำยาบ้วนปาก

แหล่งข้อมูล:

  1. Mouthwash (Mouthrinse). https://www.ada.org/en/member-center/oral-health-topics/mouthrinse [2018, June 8].
  2. Does Mouthwash work? https://www.nationaldentalcare.com.au/does-mouthwash-work/ [2018, June 8].
  3. Does Mouthwash Kill Good Bacteria?https://www.drstevenlin.com/mouthwash-kills-good-bacteria/ [2018, June 8].